จวนตานี ผ้าแห่งการมาพบกัน

วิถีแห่งผ้าและอาภรณ์
ทรายขาว
โคกโพธิ์

เป็นผ้าทอโบราณที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี นิยมใช้กันมากในกลุ่มชนชั้นสูงและผู้มีฐานะ มีลวดลายและสีสันสวยงามเด่นสะดุดตา

ผ้าจวนตานี เป็นผ้าทอโบราณที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี นิยมใช้กันมากในกลุ่มชนชั้นสูงและผู้มีฐานะ เพราะทอด้วยเส้นไหมชั้นดีเส้นเล็กละเอียด มีลวดลายและสีสันสวยงามเด่นสะดุดตาจึงทำให้มีราคาแพง จุดเด่นของผ้าอยู่ที่เชิงผ้าสีแดงเข้ม ซึ่งเกิดจากการทอโดยใช้เทคนิคพิเศษ และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่เรียกว่า “ล่องจวน” คือ มีแถบริ้วลวดลายวางเป็นแนวแทรกอยู่ระหว่างผืนผ้า และชายผ้าทั้งสองด้าน นัชฎาภรณ์ พรหมสุข เล่าว่า กว่าจะมาเป็นกลุ่มทอผ้าจวนตานีเกิดจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกแต่ละหมู่บ้านประมาณ 15 คน ที่ต้องการฟื้นฟูการทอผ้าไหมโบราณที่มีชื่อเสียงของตำบลทรายขาว เนื่องจากผ้าจวนตานีเคยสูญหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่9) มีพระราชดำริให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้าโบราณ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้ามาทำการวิจัยในชุมชน และให้คำแนะนำในการทอผ้าและสอนการทอผ้าลายจวนตานีให้ ซึ่งเริ่มแรกที่ตั้งของกลุ่มทอผ้าจะอยู่ที่ศูนย์อาชีพวัดช้างให้ แต่ทำมาประมาณ 1 ปี ก็ล้มเลิกการทำ เพราะว่าทอยากแต่ก็มีสมาชิกบางคนเห็นว่าน่าเสียดายหากจะล้มเลิกไป จึงได้ปรึกษากับ อบต. ตำบลทรายขาว เพื่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นในตำบลทรายขาวก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ส่วนสถานที่ตั้งกลุ่มในตำบลทรายขาวนับจนถึงปัจจุบันก็ได้รับมอบที่ดินจากท่านเจ้าอาวาสวัดทรายขาว จากนั้นจึงเริ่มหาวิทยากรมาฝึกอบรมสมาชิกตั้งแต่การทอผ้าขั้นพื้นฐานใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ก็เกิดความชำนาญจึงเริ่มเรียนทอผ้าขั้นสูงคือ การทอผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ซึ่งก่อนจะทอผ้าไหมสมาชิกในกลุ่มจะหาผ้าโบราณในตำบลทรายขาว มาแกะลงกราฟเพื่อเรียนรู้การทอผ้าลายโบราณ
เมื่อทอเสร็จจึงนำไปออกบูธตามสถานที่ต่างๆ แต่ผลการตอบรับไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เนื่องจากคนไม่คุ้นเคยในเอกลักษณ์ของผ้าจวนตานีที่จะมีสีสันตัดกันอย่างชัดเจน เช่น เขียวแดง ทำให้คนไม่กล้าใส่ ทางกลุ่มจึงนำเสนอเอกลักษณ์ของผ้าจวนตานี และพยายามปรับปรุงให้เหมาะกับความต้องการของตลาดโดยมิได้ทิ้งเอกลักษณ์เดิม คือ ผ้าจวนตานีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วน “เชิงผ้า” จะมีสีแดงล้วนและไม่มีลวดลาย ส่วนที่ 2 ส่วน “หัวผ้า” จะมีลวดลายที่ทอลงไป 5-6 ลาย โดยช่วงที่มีการเจอกันของลวดลาย ภาษาถิ่นเรียกว่า “จวน” เพราะเป็นส่วนที่ลวดลายมาบรรจบกัน และส่วนที่ 3 คือส่วน “ตัวผ้า” ซึ่งเป็นส่วนที่มีมากที่สุดของผ้าจะทอลวดลายเพียง 1 ลาย ที่นิยมทอกันได้แก่ ลายเข็มขัดทอง ลายตะเพียนทอง ลายดอกแฝกแฉก ลายปูก๊ะ ลายดวงดาว เป็นต้น
ปัจจุบันผ้าจวนตานีเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น ถือว่าเป็นผ้าทอชั้นครูของภาคใต้ และนางนัชฎาภรณ์ พรหมสุข ผู้ทอได้รับการติดต่อจากศูนย์ศิลปะชีพระหว่างประเทศให้ไปสมัครและสอบเพื่อเป็นครูช่างหัตถกรรมของศูนย์ฯ และสอบผ่านเรียบร้อยแล้ว

เรียบเรียงโดย อัญญ์ณิชตา รุ่งวิชานิวัฒน์