ประวัติความเป็นมา

ชุมชนผสมผสาน หรือย่านเศรษฐกิจใหม่ เป็นย่านชุมชนที่มีความผสมผสานกันระหว่างชุมชนไทย-จีน และมุสลิม มีสถาปัตยกรรมและอาคารสถานที่สำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน และอาคารบ้านเรือนในย่านชุมชนผสมผสานหรือย่านเศรษฐกิจใหม่ ที่โดดเด่นคือ ศาสนสถานสำคัญอย่างมัสยิดกลางปัตตานี และ สุเหร่าตะลุโบะ รวมถึงย่านเศรษฐกิจของเมืองปัตตานี คือตลาดเทศวิวัฒน์ 1 และ ตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี

ชุมชนผสมผสาน หรือย่านเศรษฐกิจใหม่ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตั้งแต่ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 จนถึงย่านชุมชนมุสลิม (บริเวณมัสยิดกลางปัตตานี) ชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเขตตำบลจะบังติกอ เชื่อมต่อกับชุมชนวังเก่า เป็นพื้นที่พัฒนาใหม่ โดยมีมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลาม ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2497 ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดกลางที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย

บริเวณชุมชนแห่งนี้มีที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ มีตลาดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนอยู่บริเวณตรงข้ามมัสยิดกลาง และเป็นย่านธุรกิจการค้าตามเส้นทางถนนยะรัง ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังตำบลตะลุโบะ และเป็นเส้นทางไปยังจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นเส้นทางสายเดิม (ก่อนที่จะมีการสร้างเส้นทางเส้นเลี่ยงเมืองสี่เลนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดปัตตานี กับเส้นทางไปยังจังหวัดยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) ที่เชื่อมต่อตัวเมืองปัตตานี กับเส้นทางที่จะเดินทางไปยังจังหวัดยะลา ถนนยะรัง เป็นถนนสายแรกที่จะนำพาไปยังจุดสำคัญ ๆ ของวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เพราะบนถนนสายนี้มีสถานที่สำคัญ ๆ ที่สะท้อนวิถีและบ่งบอกความเป็นอยู่ของชุมชนมลายูมุสลิมมาตั้งแต่อดีต โดยสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือการมีศาสนสถาน สถานที่ประกอบศาสนกิจของพี่น้องชาวมุสลิม อีกทั้งยังมีสุสานหรือกุโบร์ที่ฝังศพของชาวมุสลิมตั้งอยู่บนถนนสายนี้

มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี

นอกจากนี้ ถนนสายยะรัง ยังเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองปัตตานี เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมประสานตลาด 2 แห่งของตัวเมืองปัตตานี ได้แก่ ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี และตลาดเทศวิวัฒน์ 1 ซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ทั้งสินค้าพื้นถิ่นและสินค้าจากแหล่งอื่น ตลาดทั้งสองแห่งมีความเหมือนที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นตลาดที่ตั้งแบบเอกเทศ มีเพียงร้านค้าชั่วคราวหรือแผงลอยที่ไว้สำหรับขายของในช่วงเวลาหนึ่งที่นัดกันไว้ เช่นช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันเสาร์ จันทร์ และพฤหัสบดี ส่วนร้านค้าหรือสถานประกอบการอื่น ๆ เช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านผ้า ร้านอาหาร หรือร้านขายของฝากจะอยู่รอบนอกตลาด พอตกเย็น ตลาดเทศบาลฯ ก็จะทำหน้าที่เป็นแหล่งซื้อขายนัดพบของสินค้ากระสอบหรือสินค้ามือสองหลากหลาย

ตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี

ตลาดเทศวิวัฒน์ 1  เป็นย่านการค้าอาหารสด แห้ง และแหล่งเสื้อผ้า รองเท้า มีสินค้าหลากหลายให้เลือกบริโภค โดยปกติ ตลาดที่นี่จะเปิดให้บริการเฉพาะวันอาทิตย์ อังคาร พุธ และศุกร์ ลักษณะที่เด่นของตลาดเทศวิวัฒน์ คือมีความเป็นชุมชนและรวมกลุ่มเข้มแข็ง เนื่องจากตลาดที่นั่นไม่ได้เป็นเพียงแหล่งค้าขาย หากแต่เป็นที่อยู่อาศัยของคนแถวนั้นมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน