เรื่องเล่าทั้งหมด

เรื่องราวเล่าขาน ตำนานตานี

การฟื้นฟูผ้าโบราณ “ผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี” ในปัจจุบัน  
ข้อมูลทั่วไป
รหัสเรื่องเล่า103
เรื่องการฟื้นฟูผ้าโบราณ “ผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี” ในปัจจุบัน
หมวดหมู่สมบัติปัตตานี
เป็นเรื่องเล่าของอำเภอเมืองปัตตานี
เป็นเรื่องเล่าของตำบลจะบังติกอ
ผู้บันทึกเรื่องเล่าอ้อมใจ วงษ์มณฑา (omjai.w)
วันที่บันทึกข้อมูล03/04/2020

ข้อมูลจำเพาะประจำเรื่องเล่า

ข้อมูลเรื่องเล่า
รายละเอียดเรื่องเล่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ได้เล่าให้ฟังว่า การต่อยอดของผ้าจวนตานีหรือผ้าลีมาบาติก เหมือนลมหายใจของผ้าโบราณมาจนถึงปัจจุบัน และท่านทำอย่างไรที่จะให้เกิดรายได้หรือเกิดการใช้ในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าแรงจูงใจในการศึกษาฟื้นฟูเรื่องผ้าโบราณ เนื่องจากได้สังกัดอยู่ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีอาจารย์จุรีรัตน์ บัวแก้ว ได้เคยศึกษาเรื่องผ้ามาก่อนหน้านี้แล้ว
แรงจูงใจที่มาศึกษาฟื้นฟูเรื่องผ้าโบราณของสถาบันฯ ก็คือเมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ปรารภให้สถาบันฯ จัดคลินิกในเรื่องของการที่ ม.อ.พบกับชุมชน ซึ่งสถาบันฯ ได้นำเอาเรื่องของผ้าไปจัดนิทรรศการและไปให้ความรู้ต่างๆ แก่ผู้สนใจและประชาชนทั่วไป หลังจากนั้นประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ก็มีคณะศิษย์เก่า ม.อ. (เคยเขียนไว้ในหนังสือปฎิหาริย์ความดี) มีท่านรองอธิการบดีอิ่มจิต มีศิษย์เก่าคุณนันทนา คุณประเสริฐรหัส 22 และครูโอ๋ (ธนินทร์ธร รักษาวงศ์) ซึ่งเป็นแรกเริ่มเลยที่มาช่วยกันจุดประกายร่วมกันทำงาน เพื่อไม่ให้ผ้าทอจวนตานีสูญหายไป
ในอดีตการทอผ้ามีขึ้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมันเป็นผ้าที่มีราคาแพง เราจะทำยังไงที่จะช่วยพลิกฟื้น ตอนนั้นในเริ่มแรกไป Work Shop ที่ดาหลาบาติกหลายๆ ครั้ง แต่ระยะแรกถูกโจมตีมากเลยว่าคือการเอาผ้าโบราณ ผ้าจวนแล้วเอามาทำเป็นการพิมพ์มือแบบโบราณ ซึ่งการพิมพ์โดย
เครื่องทองเหลืองที่รับมาจากชวา ทางดาหลาบาติกเขาทำอยู่ เดิมก็คืออยู่จังหวัดนราธิวาส ก็อันนั้นก็สาเหตุที่อนุรักษ์ผ้าจวน
แล้วทำไมไปได้ลีมาบาติกก็มาด้วยจากเหตุว่า คำว่าลีมา ซึ่งเดิมเราเข้าใจว่าในงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้จะบอกว่า ลีมา ลีมอ แปลว่า ห้า หรือแปลว่า ส้ม แต่เท่าที่ได้ทำการวิจัยแล้วก็ได้ลงพื้นที่จริง คำว่า ลีมา เหมือนเป็นชื่อเฉพาะของผ้า คนไทยอาจจะเรียกผ้าทอจวนตานี จวนที่จูวา ก็ลีมากับจวนตานีก็คือเป็นผ้าชิ้นเดียวกัน อดีตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ้าชิ้นนี้ก็คือทอได้ทั้งไหมและทอได้ทั้งฝ้าย ฝ้ายเราพบเรื่อง
การของที่มีกี่ มีที่ปั่นฝ้าย เพราะฉะนั้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีก็น่าจะมีการทอผ้าฝ้ายขึ้นใช้เอง ส่วนไหมก็สันนิษฐานมาว่าน่าจะมาจากจีน อนึ่งลวดลายของผ้าทอจวนตานีจะออกเป็นชวา มีลักษณะคล้ายผ้าโฮงของจังหวัดสุรินทร์ ก็คือมีล่องจูวา มีเหมือนหัวตักสีแดง สีสันก็จะต่างกันคือเขียวแดง นี่คือลักษณะพิเศษของผ้าจวนตานี
เรื่องของการฟื้นฟูผ้าโบราณ โดยส่วนตัวก็เป็นคนใส่ผ้าจวนตานีมาก่อนหน้านี้แล้ว ใส่ของที่ทรายขาวมา 20 ปี พอเกิดแรงกระตุ้นจากท่านรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ศิษย์เก่า รวมทั้งครูช่างศิลปาชีพ จึงทำให้เกิดแนวทางการฟื้นฟู แต่ในระยะแรกการที่จะหาคนฟื้นฟูผ้าทอหายากมาก เพราะว่าที่ทรายขาวก็มีคนเดียวที่ทอผ้าได้ คือครูนึกหรือคุณณัฐชฏาภรณ์ พรหมสุข ซึ่งได้เป็นครูช่างด้วยเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีการถ่ายทอด แล้วก็ไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้า ปัจจุบันคือการรับแล้วก็เอาไปให้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ทอ จึงต้องการจะฟื้นฟูผ้าทอที่ทอมาจากไหมจริงๆ แต่ในระยะแรกเราหาไม่ได้ เลยใช้วิธีการไปคัดลอกลายคือเอาลวดลายมาสเก็ตซ์ภาพ ได้คุณวิษณุ เลิศบุรุษ มาช่วยในเรื่องของการสร้างสรรค์ลาย โดยตัวเองได้ประสานลาย เช่น ครูโอ๋ต้องการแบบนี้เราก็ส่งกันว่าแบบนี้ต้องถอดลายมาจากไหน จากที่เขียนว่าเอาผ้าจากหอวัฒนธรรมภาคใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีที่มาจากสถาบันฯ ส่วนคุณวิษณุจริงๆ ก็ถอดเอามาจากคอมพิวเตอร์ตามภาพที่มีอยู่ ครูโอ๋ก็จะดูว่าถ้าลงแบบนี้เส้นจะแตกไหมจนออกมาเป็นชุดแรก นี่คือลำดับของการทำผ้าลีมาบาติกชุดที่ 1 ซึ่งผู้บริหารของ ม.อ.ปัตตานีนำมาสวมใส่กัน ในช่วงเวลาที่ผลิตชุดที่ 1 ได้ ขณะนั้นสถาบันฯ ได้มอบหมายให้ร้านดาหลาบาติกเป็นคนพิมพ์ และช่วยส่งผ้ามาให้จัดนิทรรศการ แต่สถาบันฯ ไม่สามารถทำเองได้ก่อนหน้านั้น ในช่วงเวลานั้นสถาบันฯ ได้เสาะหากลุ่มชาวบ้านที่จะทอผ้าจวนตานีได้ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จที่ตำบลทรายขาวเราจึงไปที่อำเภอมายอ ที่บ้านตรัง ไปทำ SWOT ก็ไปทำหลายครั้ง แรกๆ เราก็เข้าไปด้อมๆ มองๆ ดู ผ้าของบ้านตรังไม่สามารถที่จะทอเต็มผืนได้ มีการเชิญพัฒนาชุมชนไปสอน ครั้งแรกเอาครูจากจังหวัดแพร่มาสอน ส่งผลให้ลายผ้าของบ้านตรังออกมาเป็นผ้าลายน้ำไหล ก็คือคล้ายกับผ้าอีสาน ผ้าทางเหนือ ชาวบ้านจึงทอเต็มลายไม่เป็น ย้อมสีไม่เป็น สีก็คือสีแปร๊ดเลย ชาวบ้านบอกว่าเป็นแบบมุสลิมๆ ชอบแบบนี้ สถาบันฯ ได้ไปลงพื้นที่หลายครั้ง ไป SWOT หลายครั้ง หลังจากนั้นสถาบันฯ ก็พาชาวบ้านไปดูผ้าตามที่ต่างๆ เช่น ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ที่กลันตัน ประเทศมาเลเซีย ไปที่พิพิธภัณฑ์ที่ทักษิณคดี จังหวัดสงขลา เพื่อให้เขาเกิดจิตสำนึกที่จะอนุรักษ์ผ้าจวนตานี สถาบันฯ ก็ไปกับชาวบ้าน คือทำความเข้าใจให้เขาเกิดความรักแล้วก็อนุรักษ์กันก่อน จึงจัดหาครู ซึ่งการจัดหาก็จะพิจารณาว่าเชี่ยวชาญยังไง เราได้ครูเล็ก (คุณณัฐวัฒน์) จะมีเครือข่ายทำกี่ทอผ้านวัตกรรม ได้ขึ้นบัญชีกี่ของไทยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ด้วย และมีครูช่างอื่นๆ มีครูศิลปาชีพจรูญลงมาช่วย มีการอบรมการทอผ้าจวนตานีที่บ้านตรังประมาณ 7 ครั้งและปัจจุบันยังคงดูแลกันต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของมัดย้อม ลวดลายในแต่ละครั้ง จนปัจจุบันก็ทอผ้าไหม แต่เนื่องด้วยว่ากลุ่มมีอาชีพหลักทำนา กรีดยางพารา หรือตอนนี้มีโรคระบาดโควิด ชาวบ้านจึงไม่ได้ทอผ้า
ถามว่าตอนนี้วิสาหกิจชุมชนที่บ้านตรังก็เลยมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกำหนดด้วย แต่ตัวชี้วัดของการทำผ้าทอจวนตานีในชุมชนเราเห็นได้ชัด ถ้าเราไม่วิเคราะห์ตามเรื่องของหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เขามีสหกรณ์ออมทรัพย์จากเดิมมีแค่สามแสน ปัจจุบันมีเงินทุนห้าล้านจาก 2-3 ปีที่เราลงไป และเห็นสภาพของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนในหมู่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้มีร้านก๋วยเตี๋ยว มีร้านข้าวที่อยู่ในชุมชน คือเราเห็นการเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ใช่โครงการที่เราอนุรักษ์ผ้าทอทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ทุกคนกลับไปบ้านมากขึ้น ตอนที่เราทำ SWOT ครั้งแรกชาวบ้านบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออยากให้ลูกหลานกลับบ้าน อยากให้คนบ้านตรังกลับบ้าน เพราะเขาเป็นหมู่บ้านเดียวที่อยู่ท่ามกลางมุสลิม อันนี้คือที่มาของการที่เราได้อนุรักษ์ผ้าทอจวนตานีขึ้นมาในปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถมีผ้าทอเกิดขึ้นได้หลายลาย มีคนที่ทอผ้าได้ใหม่ ทอได้เต็มผืนขึ้น และมีรายได้ที่ดีขึ้น จากการที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ออกทีวีช่องต่างๆ เขาจะ
บอกว่าเดิมมีรายได้ 5,000-10,000 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันเขาได้รายได้ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ผืนหนึ่งได้ราคาดี เพราะว่าบังเอิญวัสดุที่ทอที่บ้านตรังเขาใช้เป็นวัสดุไหมสังเคราะห์ หรือฝ้ายที่เราเอาลงไปให้จากโครงการ Pattani Heritage City มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการสนับสนุนให้ได้เรียนและมีรายได้ แล้วสถาบันฯ ก็พาไปทัศนศึกษาภาคอีสาน ไปที่เรือนไหมใบหม่อนที่ จังหวัดสุรินทร์ 2 ครั้งไปพร้อมกับทีมสถาบันฯ ไปเรียนรู้ด้วยกัน เราเรียนรู้ในแบบวิชาการ แต่ชาวบ้านเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติ ขณะนี้ได้สืบสานเรื่องของผ้าทอจวนตานี ชาวบ้านสามารถทอไหมได้แล้ว แต่ติดขัดตรงที่ชาวบ้านมีกิจกรรมอื่น คือคนที่ทอได้ดีจริงๆ ที่ทอเต็มผืนตอนนี้มีประมาณ 5 คนของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านตรัง ส่วนในกลุ่มอื่นๆ สถาบันฯก็คิดว่าจะขยายผลต่อไป เดิมสถาบันฯ เสนอขอทุนไว้แล้ว แต่ไปติดอยู่ที่สำนักงบฯ คือเราจะขยายไปกลุ่มอื่น เช่น เราจะกลับไปดูที่ทรายขาวว่าจะรวมกลุ่มกันได้ไหม
ผ้าทอจวนตานีมีชื่อมาตั้งแต่อยุธยา มีปรากฏในกาพย์เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีในรัชกาลที่ 1 ว่าเขาพูดถึงเรื่องผ้าทอจวนตานี การได้ทำโครงการ Pattani Heritage City แล้วก็ที่ตำบลจะบังติกอก็กล่าวถึงว่ามีเอกสารที่กล่าวไว้ว่ามีแขกขายผ้าไหม ผ้าจวนตานี ก็เลยทำให้สถาบันฯ ต้องขยายพื้นที่ คือว่าในเขตเมืองเราขยายไม่ได้แล้ว เพราะว่าจะบังติกอ ไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อน แต่อยู่เป็นชุมชนเมืองสมัยใหม่แล้ว ฉะนั้นจึงต้องไปหากลุ่มข้างนอก เพื่อเป็นการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เราจึงมีการต่อยอดไปช่วยทำให้เขาทอเต็มผืนได้ รื้อฟื้นลายโบราณได้ ลายก้านแย่ง ได้หลายสิบลาย มีทั้งลายใหม่แล้วก็ลายประยุกต์ เรื่องของการใช้สี เรื่องของไหมนี่คือเรื่องของผ้าทอจวนตานีในบ้านตรัง
ในระหว่างที่สถาบันฯ ก็ฟื้นฟูผ้าทอจวนตานีได้แล้ว ขณะเดียวกันผ้าลีมาบาติก หรือจวนตานีบาติก บางคนเรียกผ้าล้อจวน ผ้าล้อล่องจูวา ก็มีอาจารย์ ดร.กำธร เกิดทิพย์ ก็คิดลายที่สอง โดยการมาปรึกษาว่าอย่างนี้ได้ไหม เพราะเราจะรู้ลักษณะของผ้าจวนตานีเป็นยังไง สีต้องตัด ลายต้องกลมๆ ถ้าเราเทียบกับภาคอีสานแล้วลายมันจะออกคนละแบบกันเลย จะออกเป็นเลขาคณิต ข้าวหลามตัดก็จะออกเป็นยาวๆ เหมือนไพ่ที่เป็นข้าวหลาม แต่ถ้าของบ้านเราภาคใต้ผ้าจวนเราจะเหมือนกับมลายู ลายจะอ้วนๆ กลมๆ ไปคล้ายกับพวกมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสมัยก่อนทั้งไทยพุทธและมุสลิมก็นิยมกัน เมื่อออกลายที่สองก็จะมีครูปิยะ
สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างจากศิลปาชีพเหมือนกัน ก็มาจัด Work Shop ที่สถาบันฯ ครูเหล่านี้ช่วยเราพัฒนาเป็นลายที่สอง
ส่วนลายที่สามเป็นลายของคุณวิษณุ เลิศบุรุษ ซึ่งแรงบันดาลใจที่มองแบบศิลปินมาจากลายผ้าที่ได้ปรับเรื่องของสี แซมด้วยดอกพิกุล ถือเป็นลายของสถาบันฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นลายที่มาจากลีมาก้านแย่งแล้วก็มีลายดอกพิกุล
ปัจจุบันกำลังทำลายชุดที่สี่ โดยให้นายอิสระ กุรง ออกแบบลายดวงดาว ซึ่งผ้าทอลายนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะมันเป็นลายโบราณออกมาระยิบระยับ ลายนี้ไม่ใช่แรงบันดาลใจ แต่ถอดมาจากผ้าโบราณเลย
ตอนนี้เราข้ามผ่านแล้ว จากเดิมเราถูกโต้แย้งมากเลย ตอนที่ทำในปีแรกๆ โดนพวกที่เขาอนุรักษ์ผ้ากล่าวหาว่าเป็นการทำลายผ้า แต่สิ่งที่สถาบันฯ ไปทำที่บ้านตรัง ก็เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเราไม่ได้ทำลาย แต่เราก็อนุรักษ์ไปพร้อมกับประยุกต์ ฉะนั้นการอนุรักษ์ก็คือการไปทำให้เกิดผ้าทอจวนตานีเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่บ้านตรัง ที่อำเภอมายอ ส่วนการประยุกต์ก็คือการที่เราเอาลวดลายตรงนี้มาทำให้เกิดลีมาบาติก ซึ่งราคาถูกกว่า ใส่ได้ง่ายกว่า วัยรุ่นใส่ได้ แต่ผ้าทออาจจะมีราคาที่สูงกว่า แต่โครงการทั้งสองโครงการที่ทำ ก็ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน แรงกระตุ้นที่ทำให้คนทั้งจังหวัด ประกอบกับทางรัฐบาลรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย ผ้าถิ่น ทำให้กลุ่มบ้านตรังมีรายได้เพิ่มขึ้นเยอะ
ส่วนของสถาบันฯ ลีมาบาติกในสมัยก่อนก็จะเห็นว่าในสามจังหวัดไม่ได้แพร่หลายในเรื่องบาติกของการพิมพ์มือ ส่วนใหญ่พิมพ์บล็อกไม้อาจจะมี แต่บล็อกทองเหลืองหายาก เพราะว่าต้นทุนสูงและต้องอาศัยความประณีต หลังจากที่สถาบันวัฒนธรรมฯ ลงไปทำลีมาบาติกก็ฟื้นกระแสการใช้ผ้าบาติกแบบลายพิมพ์ทองเหลือง ซึ่งเป็นลายที่ละเอียดกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการตื่นกระแสวิสาหกิจชุมชนด้านผ้าและเครื่องแต่งกายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างสูงทีเดียว
ราคาของผ้าทอที่เป็นผ้าพื้นขนาดสองเมตรราคาผืนละ 500 บาท แต่ถ้ามีลวดลายขนาดสองเมตรราคาผืนละ 800 บาท ส่วนลีมาบาติกเต็มผืน มีจวน มีล่องจวนตรงตามอัตลักษณ์ผ้าจวนตานี เหมือนเรามาทำล้อให้มีเชิง ขนาดสองเมตรราคาผืนละ 600 บาท ผ้าบาติกราคาจะแล้วแต่เนื้อผ้า ถ้าผ้าทอลายเต็มผืนลายแบบโบราณก็อยู่ที่ 2,500 บาท (สองเมตร)
มีการพัฒนาวัสดุกับเส้นใยโดยใช้ไหมบ้าน ซึ่งต้องสั่งซื้อมาจากทางอีสาน เพราะไหมบ้านจะเป็นปมๆ แต่ได้อารมณ์ของการเป็นไหมบ้าน ตอนนี้ทางจังหวัดให้มาเป็นสปันซิลแต่ไม่สวย และไม่เพียงพอกัน สรุปว่าใช้เป็นไหมแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทำได้อย่างเดียว แต่ส่งผลให้ต้นทุนการทอผ้าสูงมาก ซึ่งกลุ่มบ้านตรังต้องพัฒนาการทอผ้าด้วยไหมแท้กันต่อไป แต่ไหมฝ้าย ไหมสังเคราะห์ตอนนี้ขายได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว เพราะไหมแท้ก็ยังทอได้แค่คนสองคน
ลักษณะเด่นอย่างอื่นเมื่อเราเอาผ้าโบราณมาประยุกต์ขึ้นใหม่ ลักษณะเด่นของผ้าทอเองที่เด่นไปกว่าโบราณก็คือว่าถ้าเป็นผ้าทอของบ้านตรังเขาจะมีลายของเขาเอง เช่น ลายปักเป้า ลายไหมกองซัง ลายปักเป้าก็คือชุมชนเขาเล่นว่าว ลายปักเป้าก็คือว่าว แต่เราก็ลงไปช่วยสอนเขา เพราะตอนแรกเป็นลายใหญ่ๆ แล้วทำได้ไม่เต็มผืนก็ไปเหลือลายเล็กๆ ลายปักเป้าก็เป็นที่นิยม ส่วนลายกองซังก็คือลายของชุมชนบ้านตรัง เนื่องจากสมัยก่อนเวลาที่จะผ่านชุมชนบ้านตรังชาวบ้านบอกว่าจะมีกองซัง หรือกองซังข้าวตั้งอยู่ คือเป็นแบบลายกากบาทนี่คือลักษณะเด่นของผ้าทอบ้านตรังที่เป็นลายดั้งเดิม
ลักษณะเด่นของผ้าลีมาบาติกที่สถาบันฯ เอามาทำที่ไม่เหมือนใครจริงๆ ก็คือการถอดลวดลายจากผ้าจวนตานีหรือผ้าลีมา ที่นอกจากลวดลายเอามาประยุกต์แล้วบางอย่างก็อาจจะถอดมาเลย เราพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์หรือองค์ประกอบของผ้า ก็คือผ้าต้องประกอบไปด้วยล่องจวน มีเชิงจวน เราก็เอามาใส่ให้มันคงลักษณะที่เป็นผ้าจวนตานี แต่ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับบริบทของสังคม มีการปรับสีสัน จะไปปรับแดงเขียวนี้เป็นไปไม่ได้ การทำลีมาบาติกในปัจจุบันเป็นผ้าที่ถอดลายผ้าจวนตานีและประยุกต์ผ้าจวนตานี โดยคงอัตลักษณ์การมีเชิงจวน การมีล่องจูวา แต่สีสันอาจจะมีการประยุกต์ให้เหมาะกับบริบททางสังคมในปัจจุบันคือให้สีสันไม่ฉูดฉาดเกินไป ปัจจุบันเราสามารถทำได้เอง ผลิตได้เอง ปัจจุบันลีมาบาติกเราจดลิขสิทธิ์ ใครจะมาละเมิดไม่ได้ เพราะนี่คือนวัตกรรมของเราที่เราต่อยอดผ้าจวนตานีโบราณให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ของเราได้

สถานที่เกิดเรื่องเล่าอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องเล่าพ.ศ. 2563
สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
คำสำคัญลีมาบาติก,ผ้าจวนตานี,ผ้าโบราณ
คุณค่า/การต่อยอด

การอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าโบราณ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
  • จวนตานี ผ้าแห่งการมาพบกัน

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่
ชื่อสถานที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ที่ตั้ง181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ 6 ตำบลรูสะมิแล
เมือง, ปัตตานี 94000
Map It
ช่วงเวลาทำการ

วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ในวันและเวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.


ข้อมูลแหล่งที่มา
ชื่อ-สกุล ผู้ให้สัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด
ที่อยู่และข้อมูลการติดต่อ

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 181 ถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลรูสะมิแล หมู่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000

สถานภาพหรือความสำคัญที่ได้มาเป็นคนเล่าเรื่อง

เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเรื่องผ้าโบราณ

วันที่สัมภาษณ์26/03/2020