เรื่องเล่าทั้งหมด

เรื่องราวเล่าขาน ตำนานตานี

การทำสวนส้มโอปูโกหรือส้มโอทับทิมสยามที่อำเภอยะรัง  
ข้อมูลทั่วไป
รหัสเรื่องเล่า51
เรื่องการทำสวนส้มโอปูโกหรือส้มโอทับทิมสยามที่อำเภอยะรัง
หมวดหมู่การทำมาหากิน อาชีพปัตตานี
เป็นเรื่องเล่าของอำเภอยะรัง
เป็นเรื่องเล่าของตำบลเมาะมาวี
ผู้บันทึกเรื่องเล่ารวีวรรณ ขำพล (raweewon.k)
วันที่บันทึกข้อมูล21/02/2020

ข้อมูลจำเพาะประจำเรื่องเล่า

ข้อมูลเรื่องเล่า
รายละเอียดเรื่องเล่า

นายนิอาหมัด กาหลง แห่งตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำสวนส้มโอมา 4 ปี เดิมเป็นพื้นที่สวนยาง เมื่อยางราคาไม่ดีจึงเปลี่ยนมาทำสวนส้มโอแทน สายพันธุ์ดั้งเดิมของเมาะมาวีคือ พันธุ์ปูดี แต่ปัจจุบันพันธุ์ที่นิยมปลูกและเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงคือ พันธุ์ปูโก หรือพันธุ์ทับทิมสยามของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลักษณะเด่นของส้มโอพันธุ์ปูโกคือ 1) มีหัวจุก 2) ผลที่ได้คุณภาพมีรสชาดหวาน เนื้อนุ่ม มีสีแดง เปลือกบางและมีขนนิดๆ 3) น้ำหนักผล 1.2 – 2 กิโลกรัม/ผล เป็นที่ตลาดต้องการ ผลจะได้คุณภาพดีอยู่ที่อายุผล 6 เดือน 10 วัน ซึ่งถ้าสุกเกินไปก็จะไม่อร่อยหรือถ้าอ่อนก็จะติดขม
ส้มโอเป็นพืชที่ปลูกได้ทุกพื้นที่ยกเว้นดินทราย การปลูกให้ขุดหลุมกว้างและลึกประมาณ 50 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 7-10 เมตร ประมาณ 20-25 ต้น/ไร่ ใช้กิ่งพันธุ์จากการตอนกิ่ง เพราะมั่นใจและออกลูกเร็วกว่าการเสียบยอด ที่เมาะมาวีก็มีการขายกิ่งพันธุ์ด้วย ต้นสูงประมาณ 50 ซม. ราคา 50 บาท ต้นสูงกว่า 50 เมตร ราคา 100 บาท การดูแลส้มโอนั้นต้องเตรียมระบบน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้บ่อขุดและมีหลายพื้นที่ติดคลองชลประทานทำให้สะดวกในการให้น้ำ การให้ปุ๋ยไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยคอก มูลวัวหรือมูลไก่ และแกลบเผา ใส่ปุ๋ยน้อย ๆ เดือนละครั้ง ประมาณครึ่งกระสอบต่อต้น โดยวางไว้ที่โคนต้นหรือจะหว่านก็ได้ ถ้าดูแลต้นอย่างดีจะเริ่มเก็บผลผลิตได้หลังจากปลูก 2 ปีครึ่ง ในหนึ่งปีจะเก็บผลผลิตได้ 2 รอบ จะออกผลมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน อายุต้นส้มโออยู่ได้นานมีอายุยืน 60-80 ปี
กล่าวได้ว่าส้มโอเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอยะรัง หากผู้ซื้อไปเก็บเองที่ต้นราคา 20 บาท/ผล ส่วนราคาขายปลีก 50 - 100 บาท/ผล แล้วแต่ขนาด ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกส้มโอราคา 5 - 10 บาท/ผล เฉลี่ยรายได้ต่อต้นประมาณ 8,000 บาท/ต้น (ต้นอายุ 20-25 ปี) และยังมีการขายกิ่งพันธุ์อีกด้วย สำหรับวิธีการเลือกหรือดูผลที่เหมาะสำหรับการรับประทานคือ น้ำหนักต้องได้ ถ้าหนักแสดงว่ามีเนื้อมากเปลือกบาง เปลือกเขียวออกเหลืองและที่เปลือกมีรอยนูนของกลีบ
นายนิอาหมัด กาหลง ยังเล่าต่อถึงปัญหาการทำสวนส้มโอคือ 1) ปัญหาเรื่องน้ำ ถ้าเป็นที่ลุ่มไม่ได้ยกร่อง จะทำให้มีน้ำขังเป็นโรคเน่า 2) ปัญหาศัตรูพืช มีเพลี้ยแป้ง เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เชื้อรา ราสนิม แมลงดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรแปลงเล็กจะปล่อยตามธรรมชาติ และเกษตรกรแปลงใหญ่มีการใช้สารเคมีอย่างอ่อน 3) ตัดส้มโอที่ยังไม่สุกเต็มที่ หรือเรียกว่าส้มติดอ่อน เนื่องจากเกษตรกรจำวันที่แน่นอนไม่ได้ ดังนั้นเกษตรกรต้องมีการบันทึกไว้ ปัจจุบันสำนักงานการเกษตรอำเภอยะรังได้เข้าไปดูแลเกษตรกร ให้ความรู้ในการปลูก การดูแล การตลาด และมีการจัดตั้งกลุ่มสวนส้มโอแปลงใหญ่ ประธานกลุ่มคือ นายอับดุลรอฮิง ดอเลาะหรือ จูฮิง

สถานที่เกิดเรื่องเล่าต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องเล่า255-
คำสำคัญส้มโอปูโก, ส้มโอทับทิมสยาม,การทำสวนส้มโอ
คุณค่า/การต่อยอด

ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมและชิมส้มโอปูโก ส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์การปลูกส้มโอปูโกไปยังท้องที่อื่น


ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่
ที่ตั้งปัตตานี
Map It

ข้อมูลแหล่งที่มา
ชื่อ-สกุล ผู้ให้สัมภาษณ์นิอาหมัด กาหลง
ที่อยู่และข้อมูลการติดต่อ

6/1 หมู่ 6 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

สถานภาพหรือความสำคัญที่ได้มาเป็นคนเล่าเรื่อง

เกษตรกรสวนส้มโอปูโก

วันที่สัมภาษณ์14/01/2020