เรื่องเล่าทั้งหมด

วังจะบังติกอ  
ข้อมูลทั่วไป
รหัสเรื่องเล่า36
เรื่องวังจะบังติกอ
หมวดหมู่สมบัติปัตตานี
เป็นเรื่องเล่าของอำเภอเมืองปัตตานี
เป็นเรื่องเล่าของตำบลจะบังติกอ
ผู้บันทึกเรื่องเล่าอ้อมใจ วงษ์มณฑา (omjai.w)
วันที่บันทึกข้อมูล18/02/2020

ข้อมูลจำเพาะประจำเรื่องเล่า

ข้อมูลเรื่องเล่า
รายละเอียดเรื่องเล่า

หากใครได้มาเยี่ยมเยือนปัตตานี เพื่อย้อนรอยเวลาทางประวัติศาสตร์ของคุณค่าเมือง จะขอแนะแนะอีกสถานที่ที่น่าสนใจ นั่นคือรอยซากปุราณกำแพงราชวังเก่าจะบังติกอ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตำนานยังถูกกล่าวขานมาว่า อดีตนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “ตนกู มูฮำหมัด” ซึ่งสืบเชื้อสายราชวงศ์กลันตัน มาเป็น “เจ้าเมืองปัตตานี”
เส้นทางไปวังจะบังติกอ เมื่อข้ามสะพานเดชานุชิตเลี้ยวขวา ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำปัตตานีตรงสามแยกจะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ซึ่งตั้งต้นจากที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์ปัตตานี เลียบแม่น้ำปัตตานีไปต่อกับถนนยะรัง เป็นเส้นทางรถยนต์เชื่อมระหว่างปัตตานีกับจังหวัดยะลา เป็นถนนลาดยางเลียบแม่น้ำปัตตานีถนนนี้เชื่อมระหว่างตัวเมืองใกล้ปากทางเข้าจะติดสะพานเฉลิมพระเกียรติเทศบาลเมืองปัตตานี ตรงไปยังถนนกะลาพอซอย 10 (จะบังติกอ) ก่อนเข้าตลาดจะผ่านบนเส้นทางถนนหน้าวังซอย 2 เข้าสู่ถนนหน้าวังซอย 2/1 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายเล็ก ๆ มุ่งตรงไปยังวังจะบังติกอ เป็นวังโบราณของเจ้าเมืองปัตตานี ตัววังหันหน้าไปทางทิศตะวันออกบนเนื้อที่ 7 ไร่ สำหรับอาณาเขตของวังนั้นทิศเหนือและทิศใต้จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกจดถนนหน้าวัง ทิศตะวันตกจดถนนหลังวัง ถ้าเดินผ่านประตูรั้ว (เดิมเป็นกำแพง) เข้าไปในวังจะเห็นบริเวณลานกว้างเต็มไปด้วยทราย ทั้งนี้เพราะในอดีตแม่น้ำปัตตานีลดระดับลงเกิดการสะสมดินทรายในบริเวณนี้ ทำให้เกิดการตะพักน้ำเป็นผืนแผ่นดินใหม่มาก่อนที่จะมีการตั้งถิ่นฐาน ตัววังสร้างโดยสถาปนิกชาวจีนในสมัยตนกูมูฮัมหมัดหรือตนกูบือซา พ.ศ. 2388 - 2399 เชื้อสายราชวงศ์กลันตัน (กำปงลาว์หรือบ้านทะเล) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ตัววังล้อมด้วยกำแพงทึบก่ออิฐถือปูน รูปทรงของวังเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยา หรือแบบลีมะ ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1 เมตร สร้างด้วยไม้ ภายในอาคารมีห้องโถงขนาดใหญ่ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าเมือง ส่วนด้านหลังของห้องโถงจะเป็นที่อยู่อาศัยของภรรยาและบริวาร อนึ่งบริเวณที่ดินทางทิศเหนือแต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของข้าทาสบริวาร ซึ่งในปัจจุบันได้ปลูกสร้างบ้านหลังใหม่เชื่อมต่อกับตัววังเก่า บริเวณที่ดินทางทิศใต้นอกจากจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ด้านหน้าสร้างเป็นมัสยิดสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ถัดจากมัสยิดเป็นสถานที่หลอมโลหะทำต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เพื่อใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการส่งไปยังกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการผลิตเงินเหรียญของเมืองปัตตานี เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยน เพราะเมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญในการติดต่อกับพ่อค้าชาวต่างชาติ ประกอบกับเหรียญเม็กซิกันซึ่งใช้ในการแลกเปลี่ยนมีจำนวนไม่พอเพียง จึงได้มีการผลิตเงินเหรียญของเมืองปัตตานีขึ้น ดังปรากฏหลักฐานว่าพบแม่พิมพ์สำหรับผลิตเงินเหรียญในบริเวณวังจะบังติกอ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเงินเหรียญที่ใช้ในเมืองปัตตานีทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 ลักษณะคล้ายอีแปะของจีน รูปร่างกลม เจาะรูตรงกลางด้านหน้าเขียนเป็นภาษามลายูความว่า “เหรียญนี้ใช้จ่ายในประเทศปัตตานี” ด้านหลังเขียนเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายเหมือนกับด้านหน้า แต่เพิ่มคำว่า “สะนะฮฺ 1309” หมายถึง ปีฮิจญ์เราะฮฺ 1309 ในศาสนาอิสลามเทียบเท่ากับ พ.ศ. 2432 ด้วยเหตุนี้บริเวณดังกล่าวจึงไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ประเภท เป็ด ไก่ ได้เพราะสัตว์เหล่านี้จะกินโลหะในพื้นดินบริเวณนี้เข้าไปทำให้ตายได้
รายรอบราชวัง จะเป็นกำแพงทึบแบบก่ออิฐถือปูน ส่วนวังด้านในจะสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดใหญ่ มีหลังคาทรงปั้นหยา ภายในอาคารจะมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรด้วยไม้ ในอาคารจะมีห้องโถงขนาดใหญ่ เป็นที่ทรงงานของเจ้าเมือง ด้านฟากด้านหลังนั้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของภริยาและเหล่าบริวาร ราชวังจะบังติกอเป็นศูนย์กลางการปกครองในท้องถิ่นของหัวเมือง และทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดา “เจ้าเมืองปัตตานี” หรือ “รายอ” ต่อ ๆ มาอีกด้วย เป็นต้นว่า ตนกูปูเต๊ะ (บุตรชายคนโตของ ตนกู มูฮำหมัด) ครั้นเมื่อตนกูปูเต๊ะ ถึงแก่กรรม บุตรก็ได้เป็นเจ้าเมือง จนกระทั่งถึงยุคสุดท้าย ก็มี ตนกูอับดุลกอเดร์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานี แห่งราชวังจะบังติกอ เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้ปฏิรูประบบการปกครองของประเทศ จึงได้มีการยุบหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรวมเป็น “มณฑลปัตตานี” ไม่ว่าจะเป็นหัวเมืองปัตตานี ยะหริ่ง ยะลา รามันห์ สายบุรี ระแงะ และ หนองจิก กระทั่งต่อมา “ราชวังหรือวัง” ที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของหัวเมือง ก็เปลี่ยนสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาบุตรหลาน เครือญาติ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งวังเก่าจะบังติกอ ก็เช่นเดียวกัน
แผ่นอิฐถูกฉาบปูนที่ผ่านกาลเวลาของกำแพงวังเก่า ตรึงตระหง่าน เบื้องหน้าโรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านจะบังติกอ แบ่งกั้นรอยต่อกันด้วยถนนหน้าวัง หรืออีกนัยหนึ่งคือถนนราชดำเนินแห่งปัตตานีนั่นเอง จึงเชื่อเหลือเกินว่า ทุกแผ่นอิฐที่ร้อยรัดรึง ตรึงตัวผ่านกาลเวลาย่อมซ่อนนัยยะคุณค่าตำนานเมืองได้เป็นอย่างดี ณ ปีนี้ การเคลื่อนตัวของเวลาผ่านมาสู่ยุคศักราช 2563 เพราะหากย้อนไปตามตำนานเล่าขานการสร้างราชวังจะบังติกอแห่งนี้ ถูกระบุบ่งบอกว่ามีอายุช่วงระหว่าง ราว พ.ศ. 2388 - 2399 ก็เท่ากับเคลื่อนผ่านมาเกือบสองศตวรรษ
อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ แวดอเลาะ เจ้าของวังคนปัจจุบันได้ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ตลอดจนต้นไม้ยืนต้นนานาชนิดปกคลุมพื้นที่บนลานทรายมองดูร่มรื่นไปทั่ววัง ยกเว้นบริเวณทางเดินเข้าวังยังคงเป็นทรายที่ปะปนไปด้วยขี้ของแกะและไก่ ซึ่งเจ้าของวังเลี้ยงไว้มากมาย ถัดจากลานทรายดังกล่าวแล้วจะพบบ่อน้ำอยู่ใกล้กำแพงวังทางทิศเหนือและทิศใต้โดยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกันทั้ง 2 บ่อ ลักษณะของบ่อน้ำเป็นบ่อเก่าแก่ ก่ออิฐถือปูนโดยใช้อิฐขนาดใหญ่กว่าอิฐในปัจจุบัน ทำบ่อเป็นรูปวงกลมสูงจากพื้นดินขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร บ่อน้ำนี้คงสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างวังเพื่อให้ข้าราชบริพารใช้สอย และยังคงใช้ประโยชน์เรื่อยมาตราบเท่าทุกวันนี้

สถานที่เกิดเรื่องเล่าตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องเล่าพ.ศ. 2432
สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
คำสำคัญวังเก่า,วังเก่าจะบังติกอ
คุณค่า/การต่อยอด

วังโบราณของเจ้าเมืองปัตตานี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
  • ตำนานวังจะบังติกอ

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่
ชื่อสถานที่วังจะบังติกอ
ที่ตั้งตำบลจะบังติกอ ถนนหน้าวัง
เมือง, ปัตตานี
Map It

ข้อมูลแหล่งที่มา
ชื่อ-สกุล ผู้ให้สัมภาษณ์นายแวฮารน แวมามะ
ที่อยู่และข้อมูลการติดต่อ

42/12 ถนนหน้าวัง ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

สถานภาพหรือความสำคัญที่ได้มาเป็นคนเล่าเรื่อง

ปราชญ์ชาวบ้าน

วันที่สัมภาษณ์20/01/2020