เรื่องเล่าทั้งหมด

สุเหร่าอาโห  
ข้อมูลทั่วไป
รหัสเรื่องเล่า94
เรื่องสุเหร่าอาโห
หมวดหมู่โบราณคดีและประวัติศาสตร์
เป็นเรื่องเล่าของอำเภอยะหริ่ง
เป็นเรื่องเล่าของตำบลมะนังยง
ผู้บันทึกเรื่องเล่าอัญญ์ณิชตา รุ่งวิชานิวัฒน์ (annitta.r)
วันที่บันทึกข้อมูล26/03/2020

ข้อมูลจำเพาะประจำเรื่องเล่า

ข้อมูลเรื่องเล่า
รายละเอียดเรื่องเล่า

นายสมาน เจะปอ อีหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านอาโห เล่าว่า เดิมสุเหร่าอาโหตั้งอยู่ที่หมู่บ้านมะนังยง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำ เมื่อถึงคราวน้ำหลากในช่วงฤดูฝนซึ่งจะเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอาโห ตอนย้ายสุเหร่ามานั้นไม่ได้ทำการรื้อถอนสุเหร่าแล้วนำมาประกอบใหม่ แต่ใช้วิธีการยกมาทั้งหลัง บางเรื่องเล่าเกี่ยวกับสุเหร่าอาโหว่า เดิมทีสุเหร่าตั้งอยู่ริมน้ำ เพราะปาตอนีดารุสลามมีการติดต่อค้าขายกับชวาและมะละกา เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปมีถนนหนทางมากขึ้น การคมนาคมทางน้ำจึงไม่เป็นที่นิยม ชาวบ้านจึงย้ายสุเหร่ามาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอาโห
สุเหร่าอาโห เป็นสุเหร่าเก่าแก่ ตามที่ได้รับคำบอกเล่าสืบต่อกันมา คาดว่าสร้างขึ้นมากว่า 400 ปีแล้ว (ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง พ.ศ. 1991-2231) สุเหร่ามีเอกลักษณ์เฉพาะที่ดูโดดเด่น สวยงามมีความน่าสนใจในการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่คาดว่าเป็นช่างจากปัตตานีที่ติดตามอุลามะห์หนีภัยสงครามและน่าจะเป็นช่างชุดเดียวกันกับที่สร้างมัสยิดวาดี อัล-ฮุเซน เพราะลักษณะอาคาร กรรมวิธีการก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างมีความคล้ายคลึงกัน แต่คนเฒ่าคนแก่บางคนเล่าว่า ผู้ที่ก่อสร้างสุเหร่าแห่งนี้คือ โต๊ะลางิอีแต ซึ่งเป็นผู้นำช่างจากชวามาก่อสร้าง โดยมีหลักฐานที่ยืนยันข้อมูลนี้คือ กูโบว์ (หลุมฝังศพ) ของโต๊ะลางิอีแต ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่ตั้งสุเหร่า
สุเหร่าอาโหกว้าง 4 เมตร ยาว 11 เมตร และสูง 10 เมตร สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา โดยหลังคามีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา 3 ชั้นซ้อนกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบชวาโบราณ ซึ่งสมัยนั้นยังมีอิทธิพลจากพุทธและพราหมณ์ จึงทำให้ดูคล้ายกับกุฏิ ช่องลมประตูหน้าต่างมีการแกะสลักไม้ที่สวยงามมาก ความพิเศษของสุเหร่าคือ การใช้เทคนิคในการก่อสร้างที่ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว การเข้าไม้ต่างๆ จะใช้วิธีเข้าสลักไม้ การเข้าเดือย ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการก่อสร้างมัสยิดวาดี อัล-ฮุเซน บริเวณด้านหน้าของสุเหร่ายังมีบ่อน้ำโบราณที่ชาวบ้านเอาไว้ดื่มกินเท่านั้น อีหม่ามเล่าว่า บ่อน้ำแห่งนี้ไม่เคยเหือดแห้งไม่ว่าฤดูกาลใดก็ตาม
เมื่อปี พ.ศ. 2558 สุเหร่าอาโหได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อใช้ในการบูรณะสุเหร่า และภูมิทัศน์โดยรอบสุเหร่าให้สวยงาม ปัจจุบันสุเหร่าอาโหยังใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) ครบทั้ง 5 เวลา ทุกเช้าวันศุกร์ สุเหร่าอาโหจะจัดให้มีการร่วมรับประทานอาหารเช้า เพื่อหาทุนช่วยเหลือศูนย์เด็กกำพร้าที่ตั้งอยู่ด้านหลังสุเหร่า ซึ่งศูนย์เด็กกำพร้าแห่งนี้อยู่ในความดูแลของอีหม่ามและคนในชุมชน

สถานที่เกิดเรื่องเล่าหมู่บ้านมะนังยง
ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องเล่าพ.ศ. 1991-2231
สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
  • สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทภาพถ่าย
สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภท Info Graphicsสื่อประกอบเรื่องเล่าประเภท Info Graphics
สื่อประกอบเรื่องเล่าประเภทคลิปวิดีโอหรือคลิปเสียงyoutube.com
คำสำคัญมัสยิดอาโห,สุเหร่าอาโห,สุเหร่าอาโห ตันหยงดาลอ
คุณค่า/การต่อยอด

สามารถต่อยอดทางด้านการเรียนการสอน สำหรับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลที่สนใจในด้านของประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม และความเก่าแก่ของสถานที่นั้น ๆ ได้


ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่
ชื่อสถานที่สุเหร่าอาโห
ที่ตั้งหมู่ที่ 1 ตำบลมะนังยง
ยะหริ่ง, ปัตตานี 94150
Map It
ช่วงเวลาทำการ

เปิดทุกวัน

ข้อมูลการติดต่อ

สอบถามข้อมูลโทร 065-2601138

เงื่อนไขและข้อกำหนด

-


ข้อมูลแหล่งที่มา
ชื่อ-สกุล ผู้ให้สัมภาษณ์สมาน เจะปอ
ที่อยู่และข้อมูลการติดต่อ

หมู่ที่ 1 ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 94150

สถานภาพหรือความสำคัญที่ได้มาเป็นคนเล่าเรื่อง

โต๊ะอีหม่ามมัสยิดประจำหมู่บ้านอาโห

วันที่สัมภาษณ์02/02/2020