ย่านชุมชนไทยจีนนี้ แบ่งเป็น 2 ชุมชน คือ 1) ย่านชุมชนจีนหัวตลาด (กือดาจีนอ) และ 2) ย่านชุมชนชิโนโปรตุกิส (กลุ่มอาคารสไตล์ตะวันตก ถนนฤาดี) ที่เป็นส่วนขยายตัวของเมืองปัตตานี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367-2394) มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากเมืองฮกเกี้ยนประเทศจีน โดยเรือสำเภานำโดย “ตันปุ่ย” มาขึ้นฝั่งที่สงขลา ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองสงขลาเป็นชาวจีนชื่อ “เทียนเส็ง” (เทียนเส็ง ณ สงขลา) ต่อมาที่เมืองปัตตานีได้เกิดความขัดแย้งภายในหัวเมืองขึ้น กล่าวคือ ขณะนั้นพระยาตานี (ตวนสุหลง) พระยาหนองจิก(ตวนจิก) พระยายะลา และพระยาระแงะ รวมกัน 4 หัวเมือง ยกกำลังเข้าตีเมืองยะหริ่ง พระยายะหริ่งสู้ไม่ได้จึงหนีไปอาศัยอยู่กับพระยาสงขลา ซึ่งทางกรุงเทพฯได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพรวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองสงขลาเพื่อไปปราบกองทัพที่ปัตตานี ตันปุ่ยและพรรคพวกซึ่งอาศัยอยู่ที่จวนพระยาสงขลา ได้นำกำลังพรรคพวกชาวจีนอาสาออกรบจนสำเร็จด้วย จนได้รับความดีความชอบแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพวกจีนชื่อ “กัปปีตัน” ปกครองฝ่ายจีน โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่รักใคร่จึงได้เลื่อนยศเป็น “หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง”
ครั้งเมื่อเสร็จจากการรบ ณ เมืองปัตตานี “ตันปุ่ย” มองเห็นที่ดิน ณ ที่บริเวณหัวตลาดจีน ว่ามีชัยภูมิดีเหมาะสมกับการทำมาหากินทางค้าขาย เพราะใกล้ริมแม่น้ำและทะเล จึงได้เข้าขออนุญาตต่อแม่ทัพทั้งสองขอที่ดินและคนจีนที่สวามิภักดิ์อยู่ในกองทัพให้ตั้งรกรากอยู่ ณ ที่ปัตตานี แม่ทัพทั้งสองเห็นชอบกับความคิดของตันปุ่ย จึงออกประกาศแต่งตั้งให้หลวงสำเร็จกิจจางวาง เป็นนายกองหัวหน้าคณะคนจีน ณ บัดนั้น พร้อมทั้งมอบให้บรรดาคนจีนที่อยู่ในกองทัพผู้สมัครจะอยู่ช่วยควบคุมทั้ง 2 ฝ่ายไว้พอสมควร พร้อมประกาศยกที่ดินที่หัวตลาดทั้งหมดให้แก่จีนตันปุ่ย และพรรคพวกได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินสืบต่อมา
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่ย่านหัวตลาด (กือดาจีนอ) เริ่มมีการพัฒนาและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว แรกเริ่มจากบริเวณหัวตลาดจีนซึ่งมี “ถนนอาเนาะรู” เป็นเส้นทางหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เรือกสวนไร่นา มาเป็นตลาดการค้าขายและการอยู่อาศัยของชุมชนชาวไทยและชาวจีนที่ต่อเนื่องกับชุมชนมลายู ซึ่งอาศัยอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ของย่าน โดยพื้นที่ย่านมีลักษณะพิเศษ คือ มีแม่น้ำปัตตานี เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในย่าน โดยมีสถานที่สำคัญ คือ “ศาลเจ้าปุนเถ้าก๋ง” หรือ “ศาลเจ้าซูก๋อง” หรือ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” อันเป็นสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับการสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
ศาสนสถานที่สำคัญอีกแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ที่ต่อเนื่องกับ “ย่านหัวตลาด” ไปตามริมแม่น้ำปัตตานี คือ “วัดตานีนรสโมสร” หรือ วัดกลาง เรื่องราวชุมชน “ย่านหัวตลาด” ยังปรากฏกล่าวไว้ในบันทึก “On the Pattani” ของ วิลเลี่ยม คาเมรอน ( William Camron) ซึ่งเดินทางมายังปัตตานี ในพ.ศ. 2424 ได้บรรยายถึงบรรยากาศวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพบ้านเรือนของย่านหัวตลาด เมื่อพื้นที่เดิมเป็นเรือกสวนไร่นา ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและการค้าขายมากขึ้น
อาคารแบบจีนบริเวณ “หัวตลาด” ซึ่งเป็นแหล่งประกอบธุรกิจการค้าและพักอาศัย ของชาวจีนในเมืองปัตตานีมาแต่อดีต ชนชาวจีนรุ่นต่อมาได้สืบทอดการครอบครองอาคารเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของกลุ่มอาคารเหล่านี้ อยู่ใกล้ริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี มีถนนตัดตรงลงไปยังแม่น้ำเพื่อใช้การขนถ่ายสินค้าจากทางเรือ และมีบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น
หมู่บ้านชาวจีนหรือย่านตลาดจีนนั้น เป็นอาคารแบบจีน ตั้งอยู่เรียงรายไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีต่อเนื่องนับจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นต่อเนื่องร่วมสมัยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา บทบาทของ “ย่านหัวตลาด” จากการเป็นเมืองท่าที่มีการค้าขายกับต่างบ้านต่างเมืองได้ส่งผลต่อรูปแบบของบ้านเรือนภายใน เมื่อมีการนำช่างชาวสิงคโปร์เข้ามาสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยและทำการค้า ดังจะเห็นได้จากกลุ่มอาคารตึกแถวกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้นที่นำรูปแบบมาจากอาคารตึกแถวในประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบันย่านชุมชนจีนหัวตลาด (กือดาจีนอ) นี้มีบ้านอยู่ 20 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว แต่มีกิจการส่วนตัวหรือทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ลูกหลานที่ย้ายไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างถิ่น จะกลับมาเยี่ยมเยียนในช่วงเทศกาลสำคัญ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าขายของปัตตานีมาก่อน ปัจจุบันกลายเป็นย่านเก่าแก่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก อาคารที่อยู่อาศัยบางหลังอยู่ในสภาพที่ยังดีอยู่ แต่หลายหลังก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา บ้านเรือนบางหลังถูกทุบทิ้งสร้างใหม่ หรือปรับเปลี่ยนเป็นบ้านรังนกนางแอ่น เพื่อเป็นแหล่งผลิตรังนกนางแอ่นสำหรับการส่งออกนอกพื้นที่เพื่อสินค้ารังนก ซึ่งถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่สร้างฐานทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปัตตานีมาช้านาน
ส่วนในย่านชุมชนชิโนโปรตุกิส (กลุ่มอาคารสไตล์ตะวันตก ถนนฤาดี) ซึ่งเป็นชุมชนส่วนขยายตัวของเมืองปัตตานีที่พัฒนาถัดจากพื้นที่ชุมชนจีนหัวตลาด (กือดาจีนอ) ตั้งอยู่ที่ถนนฤาดี ปัจจุบันยังมีผู้คนอาศัยและประกอบอาชีพในเขตพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่ง ประมาณ 50 ครอบครัว และหากเชื่อมโยงไปถึงฝั่งตลาดเทศวิวัฒน์จะมีชุมชนที่มีจำนวนกว่า 10 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งร้านอาหาร ของชำ