เมืองโบราณยะรัง

โบราณคดีและประวัติศาสตร์
ยะรัง
ยะรัง

นายมาหามุ สาและ อายุ 50 ปี พนักงานดูแลโบราณสถาน และนายอาฮามะ ฮะซา อายุ 34 ปี เจ้าหน้าที่โบราณสถาน ได้เล่าว่า เมืองโบราณยะรัง คือเมืองลังกาสุกะในอดีต เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากกว่า 3000 ไร่ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ของตำบลยะรัง และตำบลวัด มีอายุมากกว่า 1500 ปี อยู่ในยุคศตวรรษที่ 7-8 ก่อนการขุดพบเมืองโบราณยะรัง ในช่วงปีก่อน พ.ศ. 2500 ได้มีฝรั่งชาวอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสเดินทางมาสำรวจบริเวณพื้นที่ เพราะดูจากบันทึก เอกสาร ของประเทศตนเองแล้วพบว่ามีการบันทึกว่ามีที่ตั้งของอาณาจักรโบราณ มีชื่อว่าลังกาสุกะ อยู่ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน จึงเดินทางมาสำรวจที่ อ.ยะรัง

ในปี พ.ศ. 2500 นายอนันต์ วัฒนานิกร ศึกษาธิการอำเภอยะรัง ได้ยินข่าวเรื่องเมืองโบราณยะรังจากชาวบ้านจึงได้แจ้งไปยังกรมศิลปากร ซึ่งสภาพก่อนการขุดนั้นแต่ละจุดจะมีลักษณะเป็นเนินดิน ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สวนของชาวบ้าน จากนั้นกรมศิลปากรได้เดินทางมาสำรวจอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2527 – 2530 พบจุดโบราณสถานทั้งหมด 44 จุด และทำการขุดในปี พ.ศ. 2531 – 2533 สามารถขุดได้ทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ โบราณสถานบ้านจาเละ 1, 2, 3, 8 และ โบราณสถานบ้านวัด 9 เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน จากการขุดพบสันนิษฐานว่า แต่ละจุดเป็นศาสนสถาน เป็นพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม ของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เนื่องจากพบชิ้นส่วนหลักฐานที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น ศิวลึงค์ พระพิมพ์ดินเผา เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นต้น จากการขุดพบทั้งหมด 4 จุด พบชิ้นส่วนทั้งหมด 15 ล้านชิ้น

เมืองโบราณยะรังได้เปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าชมจำนวน ปีละประมาณ 2,000 คน

เรียบเรียงโดย จุฑารัตน์ ปานผดุง