ข้าวยำ เป็นอาหารหลักในท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมปัตตานีนิยมรับประทานในมื้อเช้า และมื้อเย็น เป็นอาหารที่ทำรับประทานง่ายหรือหาซื้อง่ายมีขายเกือบทุกชุมชน เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ปรุงมีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผักสดจากริมรั้ว ปลาที่หาได้ในท้องทะเลรอบอ่าวปัตตานี พร้อมกับภูมิปัญญาในการถนอมอาหารแปรรูปจากปลาสด กลายเป็นบูดูที่มีรสชาติ อร่อย กลมกล่อม
“กาบูยาตง” “กาบู” หมายถึง ยำ “ยาตง” หมายถึง หัวปลี ด้วยรสชาติหัวปลีมีความฝาด จึงนำมายำกับกะทิผสมน้ำตาลทราย เกลือ ทำให้ได้รสชาติที่ อร่อยเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นอาหารที่นิยมทำรับประทานเองที่บ้าน รับประทานกับข้าวสวย ทั้ง 3 มื้อ หรือบางครั้งสามารถหารับประทานได้ในงานมลคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานเมาลิด เป็นต้น
ปือโฆะลือมูซูมะ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ไส้กรอกวัว คำว่า “ปือโฆะลือมู” หมายถึง ไส้วัว คำว่า “ซูมะ” หมายถึง ยัดใส่ ปือโฆะลือมูซูมะ นับว่าเป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รู้จักนำวัตถุมาแปรรูปให้มีคุณค่า ว่ากันว่าสมัยก่อนในช่วงระยะเวลาวันอีดิลอัฏฮาของทุก ๆ ปีจะมีการปฏิบัติกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง คือ การเชือดสัตว์เพื่อทำ “กรุบาน” สัตว์ที่ใช้ทำกรุบาน คือ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ กีบัช ซึ่งส่วนใหญ่ชาวไทยมุสลิมปัตตานีนิยมใช้ วัว ทำกรุบาน เนื้อสัตว์ที่ทำการกรุบานนั้น จะแจกจ่ายแก่คนยากจน ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง ส่วนเศษที่เหลือดังเช่น ไส้วัว ชาวบ้านในท้องถิ่นนำมาทำเป็นปือโฆะลือมูซูมะ
แกงปลาแห้ง เป็นอาหารยอดนิยมของชาวสวนที่อยู่บริเวณเชิงเขาห่างไกลจากตลาด ยิ่งในหน้าฝน ชาวบ้านจะมีอาหารแห้งอยู่ประจำ ได้แก่ ปลาแห้ง จึงนำมาปรุงกับกะทิผสมผักพื้นบ้านที่หามาได้ตามเชิงเขา กลายเป็นแกงปลาแห้งที่กลิ่นหอมอร่อย