ข้าวยำ

DSC_0389-1.jpg
เมนูดั้งเดิม
อาหารคาว

รายละเอียด/กรรมวิธี

ข้าวยำ เป็นอาหารหลักในท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมปัตตานีนิยมรับประทานในมื้อเช้า และมื้อเย็น เป็นอาหารที่ทำรับประทานง่าย หรือหาซื้อง่ายมีขายเกือบทุกชุมชน เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ปรุงมีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผักสดจากริมรั้ว ปลาที่หาได้ในท้องทะเลรอบอ่าวปัตตานี พร้อมกับภูมิปัญญาในการถนอมอาหารแปรรูปจากปลาสดกลายเป็นบูดูที่มีรสชาติ อร่อย กลมกล่อม ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการปรุงข้าวยำ แม้ข้าวยำเป็นอาหารพื้นบ้านที่ดูเรียบง่าย ราคาถูกในชุมชนห่อละ 10 บาท แต่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติอร่อย พร้อมสีสันครบถ้วนชวนน่ารับประทานเครื่องปรุงในการทำข้าวยำ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เครื่องปรุงที่ทำข้าว ได้แก่ ข้าวเจ้า ตะไคร้ซอย เครื่องปรุงที่ทำน้ำบูดู ได้แก่ บูดู กะทิ พริกแห้ง หอมแดง ส้มแขก น้ำตาลแว่น ตะไคร้ ใบมะกรูด ส้มแขก เครื่องปรุงที่ทำซามา ได้แก่ กุ้ง พริกไทย มะพร้าวคั่ว และผักข้างเคียงเช่น ถั่วฝักยาวซอย แตงกวาซอย ใบมะกรูดซอย ถั่วงอก ดอกดาหลา เนื้อส้มโอ มะนาว มะม่วงสับเป็นเส้น

วิธีทำ ซาวข้าวให้สะอาด หุงด้วยน้ำผสมขมิ้น หุงจนสุกพักไว้ วิธีทำน้ำบูดู ปั่นพริกแห้ง หอมแดงตั้งไว้ นำหัวกะทิตั้งไฟ ใส่ส้มแขก ใส่พริกแห้งที่ปั่นไว้ จนแตกมัน ใส่บูดู น้ำตาลแว่น ตะไคร้ ใบมะกรูด ส่วนวิธีทำซามา กุ้งปอกเปลือกล้างให้สะอาด นำไปต้ม ใส่เกลือ น้ำตาลแว่น เคี่ยวจนแห้งสุก จากนั้นโขลกพริกไทย หอมแดง มะพร้าวคั่ว ให้เข้ากัน แล้วนำไปคลุกกับกุ้ง เวลารับประทานจะตักข้าว ใส่ซามา ใส่ผัก และราดบูดู

ที่มา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา