
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย “โครงการ Pattani Heritage City ภายใต้ Creative Economy : ปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม” ได้มีการรวบรวม ประมวล และศึกษาเรื่องราวของเมืองปัตตานีในพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีตำบลจะบังติกออยู่ในขอบข่ายพื้นที่ศึกษาด้วย ในการดำเนินการดังกล่าวทางโครงการได้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับองค์กรในชุมชน ประกอบด้วยคณะกรรมการมัสยิดรายอฟาฏอนี และ 4 ชุมชนจะบังติกอ ได้แก่ ชุมชนตะลุโบะ ชุมชนจะบังติกอ (วังเก่า) ชุมชนจะบังติกอ (ริมคลอง) และชุมชนวอกะห์เจะหะ ตั้งแต่ปี 2561 จากความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้เกิดการปรับปรุงอาคารเดิมของมัสยิดรายอฟาฏอนีโดยความเห็นชอบร่วมกันของชุมชน และความร่วมมือกันระหว่างมัสยิดรายอ ฯ และ ม.อ.ปัตตานี ในการพัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้จะบังติกอ” ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของมัสยิดรายอ ฯ เพื่อให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ย่านเมืองเก่าจะบังติกอ รวมทั้งเป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน ศูนย์การเรียนรู้จะบังติกอ ประกอบด้วย อาคารที่เป็นสำนักงาน ส่วนข้อมูล บริการนักท่องเที่ยว ส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และพื้นที่ลานเรียนรู้จัดกิจกรรมต่างของชุมชน เป็นอาคารชั้นเดี่ยว คสล. แบ่งเป็นงานปรับปรุงโครงสร้าง ใช้งบประมาณมัสยิดรายอ ดำเนินการ และงานปรับปรุงตกแต่งอาคาร ใช้งบประมาณโครงการ Pattani Heritage City ภายใต้ Creative Economy : ปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม” การออกแบบได้ให้ความสำคัญกับบริบทกายภาพและอาคารมัสยิดรายอในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากมัสยิดรายอ เป็นมัสยิดที่มีประวัติศาสตร์และมีความสวยงาม อันยาวนาน จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจรายละเอียดของอาคาร ทั้งนี้ได้แรงบันดาลใจจากอาคารมัสยิดรายอหลายๆส่วน ในการออกแบบ เช่น ทรงหลังคา วัสดุหลังคา ส่วนโค้งระเบียงอาคาร วัสดุพื้น ช่องลมแกะลวดลาย โดยนำส่วนต่างๆ เป็นแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับอาคารเดิมมากที่สุด ผู้ออกแบบได้ใช้อิฐมอญสีแดงในการก่อสร้างและตกแต่ง เพื่อให้สื่อถึงกายภาพเดิมของชุมชนจะบังติกออันเคยเป็นแหล่งผลิตอิฐมอญสีแดง.