ชุมชนตลาดจีน ย่านเมืองเก่าปัตตานี

ปัตตานีกับวิถีชีวิตสังคมพหุวัฒนธรรม
อาเนาะรู
เมือง

ชุมชนกือดาจีนอ (ชุมชนตลาดจีน) หรือชุมชนหัวตลาด ตั้งอยู่พื้นที่ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี ชุมชนที่นี้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันของชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเป็นชุมชนจีนที่ขนาบข้างด้วยชุมชนอาเนาะซูงา และคลองช้างที่มีชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม

คนในชุมชนอยู่กันด้วยความรัก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักกันเหมือนพี่เหมือนน้องตั้งแต่บรรพบุรุษ นับว่าเป็นชุมชนที่มีการผสมผสานทางพหุวัฒนธรรม ซึ่งบ้านเรือนในชุมชนจีนแห่งนี้มีความเก่าแก่ และส่วนใหญ่มีอายุหลายร้อยปี ในสมัยอดีตชุมชนแห่งนี้ยังเป็นย่านที่มีการค้าขายหรือเป็นตลาดในยุคแรกๆของปัตตานี โดยมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน ได้มีการค้าขายร่วมกัน เกิดเป็น "กือดาจีนอ" ซึ่งสินค้าที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนำมาขาย คือ ถ้วย จาน ชาม ส่วนชาวไทยมุสลิม จะนำสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และอาหารทะเล เช่น ปลา เนื่องด้วยในสมัยนั้นส่วนใหญ่ชาวไทยมุสลิมมีอาชีพประมงอีกด้วย ในสมัยนั้นผู้คนทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีน มีความสนิทสนมกัน แม้แต่บ้านของคุณอนันต์ คณานุรักษ์ แม่ครัวทำอาหารเป็นชาวไทยมุสลิม คือ แม่ของบังโช๊ะ (ครัวบังโซ๊ะ) ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวไทยมุสลิมก็สามารถเข้าออกบ้านได้ 24 ชั่วโมง มีการทำอาหารเป็นกะทะใหญ่ ทุกคนสามารถไปรับประทานอาหารได้ ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายจีน พุทธ หรือมุสลิม รักคุณอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นอย่างมาก

อีกทั้งในชุมชนนี้มีศาลเจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งในสมัยก่อนจะมีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจีนบางส่วนที่มีความเชื่อเจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยว เป็นมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนกรือเซะ ได้มีการมาขอบ่นกับเจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยวขอให้ลูกหายจากการป่วย หรือลูกหลานผีเข้า ก็จะมีการเอาผงธูปไปทาลูก พอหายก็จะมาทำบุญ โดยมีการมาบ่นบานซื้อผลไม้มาแก้บ่นอีกด้วย
นอกจากนี้ในสมัยก่อนยังมีการแต่งงานข้ามศาสนา อีกทั้งความสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธ จีน และมุสลิม ในสมัยนั้นทุกคนเป็นเพื่อนกัน สามารถไปนอน เข้าออกบ้านได้โดยไม่กังวลหรือระแวงกัน รับประทานอาหารที่บ้าน เวลามีงานหรือมีกิจกรรมก็จะทำร่วมกัน ช่วยเหลือกัน มีการเอาอาหาร ผลไม้ไปให้ กรณีเป็นงานพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่ร่วมงานแต่จะไปช่วยเหลือ จะไม่มีการแบ่งแยกกัน ทำให้ทั้งสามวัฒนธรรม ของชุมชนแห่งนี้สามารถอยู่ด้วยกันได้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและความสุข

เรียบเรียงโดย นูรียะห์ ดาแซ