พื้นดินงอกใหม่ หาดตะโละสะมิแล

สถานที่สำคัญของปัตตานี
แหลมโพธิ์
ยะหริ่ง

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คลื่นทะเลได้กัดเซาะเอาผืนดินของชาวบ้านนับร้อยๆ ไร่แถบนี้ หายไปในทะเล จนช่วงหลังมานี้มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นกัดเซาะ ทำให้มีผืนทรายขาวงอกเงยเกิดขึ้นตามแนวชายฝังทะเลอ่าวไทยประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่หมู่ 1-3 ต.แหลมโพธิ์ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจ เกิดการค้าขาย สร้างงาน สร้างรายได้ พลิกเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแก่คนในชุมชนแห่งนี้

นายมะหามะ กาเซ็ง เจ้าของรีสอร์ทบ้านไม้ริมทะเล หาดตะโละสะมิแล (รีสอร์ทเจ้าแรกในย่านนี้) ได้เล่าว่า ก่อนจะมาทำธุรกิจรีสอร์ทตะโละสะมิแล เคยคิดว่าทำไมสภาพแวดล้อมที่บ้านเราไม่มีการปรับปรุงอะไรเลย เป็นชายหาดโล่งๆ ที่มีเศษไม้ ขวด หลอดไฟ ก็เลยเกิดความคิดว่าถ้าเกิดเราสร้างบ้านริมทะเล และปรับปรุงชายหาดนี้เก็บกวาดขยะให้สะอาดมันจะเป็นยังไงได้บ้าง ก็เลยลองทำ ซึ่งในขณะที่กำลังกวาดขยะต่างๆก็เห็นทรายที่มีลักษณะค่อนข้างจะหยาบและมีสีทองที่ดูแล้วรู้สึกสะอาดและสวยงาม หลังจากช่วงนั้นก็ได้ชวนเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมานั่งคิดริมทะเล ก็เลยสนใจที่ดินตรงนี้ เพราะน้ำก็สะอาด ก็เลยสร้างบ้านที่เป็นบ้านส่วนตัวไว้อยู่อาศัยวันหยุดทำงานเสาร์-อาทิตย์ หลังจากนั้นไม่นานก็มีกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาทำจิตอาสาก็เห็นบ้านที่ตัวเองสร้างนั้นว่างไม่มีคนอยู่ ก็ขอเช่าค้างคืนอยู่เรื่อยๆ เดือนละครั้ง สองเดือนครั้งโดยจ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง จนช่วงหลังๆมีเด็กผู้หญิงมาขอเช่าด้วย ก็มีความคิดที่ว่าเราต้องสร้างรีสอร์ทเพิ่ม ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่จะไปได้รอดแค่ไหน ก็ลองเสี่ยงลงทุนสร้างบังกะโลแบบบ้านๆ ไม่หรูหราอะไรมากเพื่อให้รู้สึกว่าเข้ามาแล้วสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ซึ่งจุดเด่นของรีสอร์ทที่นี่คือสถาปัตยกรรมเหมือนบ้านของคนในชุมชน หลังคาที่เป็นจาก เพราะเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่และเกิดจากการเรียนรู้การสร้างบ้านจากหลังแรก ก็คือพอเข้าช่วงมรสุมลมจะพัดหลังคาซึ่งหลังคาที่ทำเป็นกระเบื้องก็จะปลิวและแตกทำให้บ้านค่อนข้างจะชำรุดง่าย ก็เลยเริ่มศึกษาดูว่าถ้าเราใช้จากมาทำเป็นหลังคามันจะช่วยอะไรได้มากแค่ไหน หลายคนก็บอกว่าไม่น่าจะทนหรอก ก็เลยขอให้คนช่วยสร้างพิเศษเอาใบเดียวมาซ้อนกันเป็นสามใบแล้วเอาไม้ไผ่มาประกบเพื่อให้เกิดความหนา ซึ่งในตอนนี้กลับคิดว่าจากเหมาะที่สุดในการปรับตัวพร้อมรับพายุของมรสุมที่นี่ อีกทั้งยังมีราคาถูกและเพิ่มความคลาสสิคให้บังกะโลอีกด้วย

หลังจากนั้นก็มีคนให้ความสัมพันธ์กับการสร้างที่พักริมทะเลมากขึ้น เพราะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนและตัวเองได้ ปัจจุบันหาดตะโละสะมิแลมีจำนวนที่พักมากกว่า 10 แห่ง นักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนทั้งในและนอกพื้นที่หันมาท่องเที่ยวที่นี่ เป็นการกระจายรายได้ให้กับหลายอาชีพทั้งแม่ครัว พนักงานดูแลรีสอร์ท และชาวประมงในชุมชนแห่งนี้มีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่สำคัญ ทำให้คนที่ออกไปหางานทำที่อื่นกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดและอยู่กับครอบครัว ทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย อัญญ์ณิชตา รุ่งวิชานิวัฒน์