เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ที่มีศิลปะการตกแต่งตัวเรือนด้วยลายไม้แกะสลักที่สวยงาม
บ้านเรือนไทยมุสลิมหลังนี้ เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงโรงเรียนจ้องฮั้ว ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2483 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสร้างก่อนหน้านั้นมาแล้วนานเท่าใด เดิมเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีระเบียง และบันไดไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ตะเคียน ดังปรากฏตามภาพที่อาจารย์นิคมได้วาดและติดประดับไว้บนชั้น 2 ของบ้าน
หลังจากนั้นได้ทำการรื้อเรือนไม้เดิม ย้ายมาทำการสร้างตัวเรือนใหม่ ณ บริเวณพื้นที่หลังวังจะบังติกอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งรูปแบบเดิม ใช้โครงสร้างไม้เดิม สันหลังคาที่ใช้ไม้ตีเป็นซี่ๆ แบบรัศมีแสงตะวัน แบบที่มักจะปรากฏในบ้านเรือนไทยมุสลิมที่อยู่ติดริมทะเล ช่องลมใต้หลังคาและช่องลมฝาบ้านส่วนบน จะทำเป็นไม้แบบซี่ๆ ให้ลมสามารถพัดผ่าน ช่วยระบายอากาศร้อนอบอ้าวได้ ลายแกะสลักบริเวณบานประตูที่มีทั้งช่องแบบโปร่ง และลายแกะสลักที่สันนิษฐานว่าน่าจะเรียกว่าลายดอกพิกุล ส่วนหน้าต่างนั้นใช้การออกแบบเหมือนบ้านจีน คือใช้เหล็กตัดแล้วติดให้เป็นช่องเล็กๆ เรียงกัน และมีแบบลวดลายดอกไม้ด้วย
นอกจากนี้อาจารย์นิคม ได้ออกแบบลายแกะสลักใหม่เพิ่มเติม เป็นลายดอกชบา ดอกไม้สัญลักษณ์ของปัตตานี เพื่อใช้เป็นประตูเล็กกั้นบันไดทางเข้าชั้น 2 ของบ้านด้วย และได้ปรับปรุงเพิ่มเติมบริเวณชั้นล่างของบ้าน เป็นแบบปูน กั้นห้องกระจก เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น