วังเจ้าเมืองโบราณ : ยะหริ่ง

โบราณคดีและประวัติศาสตร์
ยามู
ยะหริ่ง

อดีตวังยะหริ่งเป็น 1 ใน 7 ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทย ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ให้แก่ไทย 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง ทั้ง 7 หัวเมืองประกอบไปด้วย หัวเมืองยะหริ่ง หัวเมืองสายบุรี หัวเมืองหนองจิก หัวเมืองจะบังตีกอ หัวเมืองรามัน หัวเมืองยาลอ และหัวเมืองระแงะ

ในอดีตวังยะหริ่งเป็น 1 ใน 7 ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทย ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ให้แก่ไทย 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง ทั้ง 7 หัวเมืองประกอบไปด้วย หัวเมืองยะหริ่ง หัวเมืองสายบุรี หัวเมืองหนองจิก หัวเมืองจะบังตีกอ หัวเมืองรามัน หัวเมืองยาลอ และหัวเมืองระแงะ สำหรับวังยะหริ่งพระยาพิพิธเสนาบดีสงคราม ท่านเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งคนที่ 3 ท่านได้มอบหมายช่างเชื้อสายจีนที่มาจากกรุงเทพ เป็นผู้สร้างวัง เมื่อปี พ.ศ. 2438 ถึงปัจจุบันอายุ 124 ปี ใช้เวลาในการสร้าง 5 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ ส่วนลายที่แกะสลักภายในวังเป็นลายชวา ซึ่งใช้ช่างจากอินโดนีเซีย สถาปัตยกรรมของวัง ได้รับแนวคิด 3 สไตล์รวมกัน ประกอบไปด้วย มลายู ชวา และยุโรป
ตัววังจะสร้างด้วยไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นบนจะเป็นที่ทำการของเจ้าเมืองไว้ตัดสินคดีความและรับแขกบ้านแขกเมือง โดยเจ้าเมืองกับลูกหลานจะอาศัยอยู่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างจะเป็นที่อยู่อาศัยของทาสหรือเครือญาติ ภายในวังจะสร้างเป็นรูปตัวยู ปัจจุบันวังแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานไม่ใช่พิพิธภัณฑ์

ภาษาที่ใช้ภายในวัง บางคำจะแตกต่างจากภาษามลายูทั่วไป เป็นภาษาที่มาจากรัฐกลันตัน เนื่องจากราชินีกลันตันเป็นลูกหลานของวัง แต่ปัจจุบันลูกหลานไม่ค่อยได้ใช้

ภาษาไทย มลายูทั่วไป คำราชาศัพท์ที่ใช้ภายในวัง
คำว่า ย่า , ยาย ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า เมาะ , แมะ ภาษาภายในวังใช้คำว่า นีร์นอร์ , โต๊ะกู
คำว่า บิดา ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า อาเยาะ , อาบะห์ , ปาปา , บูยา ภาษาภายในวังใช้คำว่า อาเยาะกู , กู
คำว่า มารดา ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า มามา , อุมมี , เจ๊ะ , ภาษาภายในวังใช้คำว่า บอร์นอร์
คำว่า พี่สาว ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า กากะ , กะแว ภาษาภายในวังใช้คำว่า การ์นอร์
คำว่า ไม่ชอบหรือไม่เอา ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า เตาะเซ ภาษาภายในวังใช้คำว่า มอฮง (mohong)
คำว่า รับประทาน ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า มาแก ภาษาภายในวังใช้คำว่า ซาตับ (satab)
คำว่า อาบน้ำ ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า มานี ภาษาภายในวังใช้คำว่า ซีแฆ (sighea)
คำว่า ร้องไห้ ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า ตีเยาะ ภาษาภายในวังใช้คำว่า นางิส (menangis)
คำว่า นอน ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า ตีโด ภาษาภายในวังใช้คำว่า วาดู (wadu)
คำว่า หน้าต่าง ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า ปีตูนาแต ภาษาภายในวังใช้คำว่า ยือแนลอ (jeneala)
คำว่า สวมใส่ ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า ปากา ภาษาภายในวังใช้คำว่า ปากัย (pakai)
คำว่า พูด ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า แกแจะ ภาษาภายในวังใช้คำว่า จากัฟ (cakap)
คำว่า เดิน ภาษามลายูทั่วไปใช้คำว่า ยาแล ภาษาภายในวังใช้คำว่า วากัฟ (wakaf)

การเรียกเจ้าเมืองใช้คำว่า ยอ (nya) และการขานรับเมื่อมีคนเรียกใช้คำว่า กู

เรียบเรียงโดย อัญญ์ณิชตา รุ่งวิชานิวัฒน์