อาจารย์จิตติมา ระเด่นอาหมัด ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนตะลุโบะ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชุมชนตะลุโบะ ในสมัยอดีตว่า ชุมชนตะลุโบะจะมีผู้คนทั้งชาวไทยพุทธ จีน และมุสลิม อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยไม่มีปัญหาต่อกัน ในสมัยนั้นยังไม่มีการสร้างสะพานตะลุโบะ ก็จะมีคนวัยชราที่เป็นชาวไทยพุทธทั้งชายและหญิง ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเวลาจะเดินทางไปไหนมาไหนจะต้องข้ามคลองและผ่านบ้านของอาจารย์ก่อน โดยลักษณะการแต่งกายของผู้ชายจะนุ่งด้วยผ้าโสร่งของคนไทย ส่วนผู้หญิงจะมีกระด้ง ทูนมา แล้วเดินไปขายของที่ตลาดนัดที่อยู่ใกล้สะพานเดชานุชิต ตลาดนัดปัตตานีในสมัยอดีตจะมีอยู่สองส่วนคือ ส่วนหนึ่งหน้าอุทยานการเรียนรู้ TK PARK ในปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งคือ หน้าที่ว่าการไปรษณีย์เมืองปัตตานี (ศูนย์ชุมชนในปัจจุบัน) ซึ่งจะเป็นตลาดนัดใหญ่ของปัตตานี
ในสมัยอดีตอาจารย์จิตติมาก็เดินไปตลาด ซึ่งระยะทางบ้านอาจารย์ถึงตลาด ประมาณ 3 กิโลเมตร อาจารย์ได้เล่าว่าถ้าซื้อของจากตลาดเยอะ ก็จะอาศัยนั่งรถสามล้อกลับแทน เมื่อมีการสร้างสะพาน ทำให้ผู้คนเริ่มห่างหายน้อยลง เนื่องจากจะใช้เส้นทางอื่นในการคมนาคม ในช่วงสมัยนั้นตลาดนัดจะใช้เกวียนในการลำเลียงสินค้า เกวียนในสมัยนั้นจะเป็นของครอบครัวบรรพบุรุษของกะเยาะ (ที่ขายก๋วยเตี๋ยวแถวตะลุโบะในปัจจุบัน) สมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า เปาะมะ เปาะโอ๊ะ เปาะและฮ เป็นพ่อและลูกชาย 2 คน ซึ่งจะมีหน้าที่รับจ้างขนสินค้าจากแพรบันนังสตาไปที่ตลาดนัด ในสมัยอดีตตอนที่มีนิคมสร้างตนเองที่บันนังสตา ชาวบ้านบันนังสตาก็จะมีการสร้างแพรจากไม้ไผ่มีความกว้างขนาดครึ่งแม่น้ำปัตตานี โดยจะขึ้นจากท่าที่บันนังสตา จะบรรทุกสินค้าทุกอย่างไว้บนแพร คนที่มาจากบันนังสตาที่ขนสินค้ากับแพรมาขายที่ตลาดนัดปัตตานี พอสินค้าหมดก็จะขายแพร แพรจะจอดอยู่ที่ท่าเรือตะลุโบะ เวลาจะเดินทางกลับบันนังสตาก็จะใช้เรือยนต์ เพราะเริ่มมีเรือยนต์เข้ามาครั้งแรก ซึ่งจะมีวันละรอบ มาเช้ากลับเย็น ในสมัยก่อนแม่น้ำปัตตานี จะมีจระเข้อาศัยอยู่ในแม่น้ำปัตตานีเป็นจำนวนมาก เป็นวังจระเข้ ซึ่งที่มาของคำว่า “ลุโบะ” คือ ลุโบะบอยอ หรือเรียกในภาษาไทยว่า “ขุ่งน้ำ” แต่พอมีเรือยนต์เข้ามา จระเข้ก็อาศัยอยู่ไม่ได้จะเริ่มหายไปในที่สุด ในสมัยเด็กๆ อาจารย์จิตติมาเล่าว่าเป็นแพรที่จอดไว้ที่ท่าตะลุโบะถือเป็นการละเล่นของเด็กๆในสมัยนั้นอีกด้วย เด็กๆจะเล่นกันโดยจะขึ้นไปบนแพร หาลูกมะพร้าวสองลูกยึดกับตัวถือว่าแทนเสื้อชูชีพ แล้วจะว่ายน้ำข้ามคลอง ซึ่งคนในสมัยนั้นจะว่ายน้ำเก่งมาก และเมื่อมีถนนต่อสายเบตง การคมนาคมทางเรือก็หยุด ช่วงที่มีเรือยนต์เข้ามานั้น จะมีการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำตลอดสายของแม่น้ำปัตตานี สินค้าที่นำมาขายจากบันนังสตาจะเป็นสินค้าทางการเกษตร เช่น กล้วยหิน, หน่อไม้ ถ้าเป็นสินค้าของปัตตานี จะเป็นจำพวก เกลือ โดยจะมีการส่งออกไปยังปีนังด้วย ในสมัยนั้นมีการประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น การทำนา การทำสวนมะพร้าว จะเห็นได้ว่าในเมืองปัตตานีในปัจจุบันจะมีต้นมะพร้าวเกือบทั่วเมือง เนื่องจากมีการเพาะปลูกต้นมะพร้าวตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งยายของอาจารย์จิตติมา ก็ทำสวนมะพร้าวเช่นเดียวกัน และในสมัยอดีตชุมชนตะลุโบะมีโรงงานทำกระเบื้องหลังคาที่เป็นอิฐ เพราะปัตตานีมีสภาพพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นดินเหนียว จะออกสีแดง เวลานำมาทำเครื่องปั้นดินเผาจะมีความสวยงามเหมาะแก่การทำเครื่องดินเผา แต่ไม่เหมาะต่อการรับประทาน เพราะมันขุ่น น้ำก็จะขุ่น ทำให้คนปัตตานีในสมัยนั้นจะกินน้ำคลองที่ใส ซึ่งในสมัยนั้นในชุมชนนั้นเป็นแหล่งใหญ่ในการทำกระเบื้อง มีประมาณ 10 โรง ในช่วงปิดเทอม อาจารย์จิตติมาก็จะรับจ้างขนกระเบื้องออกจากเตา ได้ค่าจ้าง 20-30 บาท นอกจากนี้ที่ชุมชนตะลุโบะ สมัยก่อนจะดังในเรื่องของอาหาร เวลามีงานเลี้ยง คนที่มีฐานะก็จะจ้างมาทำอาหาร คนที่ทำอาหารที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ชื่อ แวละห์ กับเยาะห์ อายุประมาณ 70 ต้นๆ และมีบ้านหลังหนึ่งที่อยู่รอยต่อระหว่างตะลุโบะกับจะบังติกอที่อยู่หลังวัง เป็นคนจีน ที่มีลูกชื่ออิสลามทุกคน เขาเรียกกันว่า “เมาะอีเตะ” จะเลี้ยงเป็ด และปลูกพืชทางการเกษตร
อาจารย์จิตติมา ได้เล่าว่าบรรพบุรุษของอาจารย์เป็นคนจีนตั้งแต่ชวา เป็นเจ้าเมืองชวา ลูกเจ้าเมืองจีนที่หลี้ภัย ซึ่งอาจารย์จิตติมาก็มีญาติที่เป็นทั้งไทยพุทธและไทยเชื้อสายจีน ซึ่งยายของอาจารย์จิตติมาเองก็เป็นจีนที่มาจากเมืองจีน โดยอพยพมา 4 คนพี่น้อง เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 2 คน อาจารย์เล่าว่ายายมีสามีแล้ว เป็นชาวจีนด้วยกัน แล้วมีบุตรมาเกิดที่ปัตตานี 1 คน พอสามีเสียชีวิต ก็แต่งงานกับทวดของอาจารย์จิตติมา ได้บุตรอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นตาของอาจารย์จิตติมา นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนผู้ชายคนหนึ่งก็เข้ารับอิสลาม อาศัยอยู่ที่บือติง ผู้ชายอีกคนหนึ่งคือพ่อของลุงม่วงซึ่งลุงม่วงเป็นนายกเทศมนตรีปัตตานี ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ อาจารย์ได้เล่าว่า ลุงของแม่อาจารย์จิตติมา ที่เกิดที่เมืองจีน แม่จะเรียก “เปาะจิโป” สังเกตว่า จะไม่เรียกลุง แต่จะเรียกเป็นทางมุสลิมคือ เปาะจิ ซึ่งเปาะจิโป ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ปูยุด สามารถพูดภาษามาลายูได้ แต่นับถือศาสนาพุทธ เปาะจิโปสามารถอยู่ร่วมกันกับคนไทยมุสลิมได้ที่ปูยุด โดยไม่มีปัญหากัน อีกทั้งตาของอาจารย์ก็จะยังไปมาหาสู่พี่ชายที่เป็นจีน พาแม่ของอาจารย์จิตติมาไปด้วย
อาจารย์จิตติมาได้เล่าว่า สมัยอดีตนั้น คนที่ชื่อ บุญสม เป็นพี่สาวของคุณบุญเสริม ซึ่งเป็นภรรยาของนายกเทศมนตรีปัตตานี ซึ่งแม่ของอาจารย์จิตติมา จะเรียกชื่อว่า “กะนิสง” ชาวบ้านก็จะเรียก “สง” คนมุสลิมจะเรียกเป็นชื่ออิสลามหมด เวลาสื่อสารกัน แม่อาจารย์จะพูดภาษามาลายู กับคุณบุญสมที่พูดภาษาไทย แต่สามารถสื่อสารกันเข้าใจ
การอยู่ร่วมกันในสมัยนั้นของคนระหว่างไทยพุทธ จีน และมุสลิม เวลามีงานหรือกิจกรรมร่วมกันระหว่างเครือญาติต่างศาสนิก ก็สามารถอยู่ร่วมกันภายในงานได้ จะไม่มีปัญหาต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ถ้ามีญาติฝั่งมุสลิมไปมาหาสู่บ้านคนไทยพุทธหรือจีน ก็จะมีการสั่งอาหารจากร้านมุสลิมมากินที่บ้าน หรือเวลามีงานมงคลสมรส จะมีการล้มวัว โดยให้กำนันจัดการ เพื่อให้ทุกคนสามารถรับประทานได้
การแต่งกายเวลาไปร่วมงานญาติต่างศาสนิก ถ้าเป็นงานของคนมุสลิม ญาติที่เป็นชาวไทยพุทธหรือจีน ก็จะแต่งตัวชุดมาลายู บางคนก็สามารถพูดภาษามาลายูได้ ในสมัยนั้นจะมีความกลมกลืนในลักษณะนี้