การฟื้นฟู ลีมาบาติก : ผ้าจากแรงบันดาลใจลวดลายประยุกต์ผ้าจวนตานี ให้คงอยู่สืบไป

สมบัติปัตตานี
จะบังติกอ
เมืองปัตตานี

ตามรอยอดีต สู่แรงบันดาลใจ ลวดลายประยุกต์ ลีมาบาติก ออกแบบและผลิตโดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ผ้าจากการคลี่คลายลวดลาย รังสรรค์งานศิลป์ ผ้าถิ่นใต้ชายแดน ถ่ายทอดความรู้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ดำเนินการผลิต ณ ศูนย์หัตถศิลป์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าท้องถิ่นชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ Pattani Heritage City มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
ผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ผลงานการพัฒนาลวดลายผ้าจากแรงบันดาลใจ “ผ้าทอจวนตานี หรือผ้าลีมา” ผ้าโบราณแห่งปัตตานีมีชื่อเสียงมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา มรดกภูมิปัญญาผ้าที่มีคุณค่ายิ่ง จุดเริ่มต้นแห่งที่มาของผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการผ้าโบราณ ณ หอวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ต่อมา นายวิษณุ เลิศบุรุษ ผู้สร้างสรรค์ลายประยุกต์ต้นแบบ ได้หยิบยกลายบางช่วง บางตอนของผ้าจวนตานีแต่ละผืนมาจัดวางองค์ประกอบขึ้นใหม่ ตามจินตนาการและความประทับใจ โดยการนำลายจากผ้าจวนตานีจำนวน 3 ผืน ถอดแบบจากลายทอมาดัดแปลงลายขึ้นใหม่ให้เหมาะกับการทำพิมพ์ด้วยเหล็ก บางส่วนผ่านการตัดทอน บางส่วนได้เพิ่มเติมขึ้น แต่ภาพรวมของแต่ละลายก็ยังคงมีเค้าโครงลายเดิมอยู่ ผิดเพี้ยนไปจากเดิมไม่มาก โดยการสเก็ตซ์ภาพบนกระดาษด้วยดินสอ เมื่อได้โครงสร้างของลายแต่ละลายแล้ว ก็นำภาพร่างลายเส้นดินสอปรับแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ลายที่คมชัดและมีขนาดที่แน่นอนจากนั้นก็จัดวางองค์ประกอบของผ้าทั้งผืน โดยนำลายที่ออกแบบไว้ทั้งหมดมาจัดวางองค์ประกอบของผ้าทั้งผืนขึ้นมาใหม่ ขั้นตอนนี้ได้รับการแนะนำจากครูช่างธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ แห่งดาหลาบาติก ในการจัดวางลวดลาย เนื่องจากผ้าแต่ละผืนมีองค์ประกอบของลายที่แตกต่างกันไป เช่น ลายพื้น ลายร่อง ลายขอบผ้า และตีนผ้าหรือชายผ้า จึงได้จัดวางองค์ประกอบขึ้นมาโดยยึดโครงสร้างในผืนผ้าตามแบบผ้าลีมาโบราณ จนเกิดเป็นลายผ้าประยุกต์ผืนใหม่

ทำไมต้องถอดลายจากผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี : ผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี เป็นเอกลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผ้าทอที่มีลวดลายเฉพาะเกิดจากการมัดหมี่ ส่วนหัวผ้าหรือเชิงผ้าจะเป็นสีแดง และตัวผ้าจะเป็นสีที่ตัดกัน ระหว่างตัวผ้าและหัวผ้าจะถูกคั่นด้วยล่องจวนในความยาวทั้งหมดของผ้าทั้งผืน ซึ่งผ้า
ลีมาจะทอผ้าต่อเนื่องกันทั้งผืนแต่จะมีลวดลายและสีสันแตกต่างกันไป

ทำไมต้องใช้เทคนิคการเขียนบาติก : การเขียนลวดลายบนผืนผ้าที่มีกระบวนการเป็นเอกลักษณ์เฉพาะวิธีหนึ่ง คือ การใช้แม่พิมพ์มือผสมการเขียน ถือเป็นกรรมวิธีผลิตแบบโบราณและผสานเทคนิคที่ทันสมัยให้มีสีสัน ลวดลายโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของผ้าบาติก ซึ่งในปัจจุบันสืบสานโดยกลุ่มดาหลาบาติก : ครูช่าง
ธนินธรณ์ รักษาวงศ์ ครูช่างศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ดังนั้น สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จึงได้ทำการศึกษาถอดลายจากผ้าลีมา หรือผ้าจวนตานีที่อยู่ในความดูแลของสถาบันฯ นำมาประยุกต์ ออกแบบ โดยใช้เทคนิคการเขียนบาติกแบบโบราณ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรม และพัฒนาพื้นที่ในมิติของวัฒนธรรม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายเข้ากับวัฒนธรรมจากโลกยุคใหม่ให้สามารถอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว จึงเกิดการนำลวดลายจากผ้าลีมา ประยุกต์พิมพ์ลงบนผ้าบาติก ต่อยอดองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบลายผ้า และสร้างสรรค์เรื่องสีร่วมกับครูช่างธนินทร์ธร รักษาวงศ์ แห่งดาหลาบาติก จากข้อมูลสีของผ้าทอจวนตานีโบราณ เพื่อให้ได้สีใกล้เคียงกับสีเดิม และได้พัฒนากระบวนการพิมพ์ลายและให้สี ตลอดจนผลิตผ้าต้นแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจและถอดแบบมาจากผ้าทอโบราณ อันเป็นที่มาของผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ผลงานทุกชิ้นละเอียด ประณีต ผลิตลงบนผ้าชั้นดี สวมใส่สบายไม่ร้อน สีสันสดใส โดยผลงานผ้าชุดแรกดำเนินงานผลิตเพื่อตัดเสื้อสวมใส่สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ได้ผ่านการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 6 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ได้รับเกียรติจากครูช่างปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ. 2560 และ ดร. กำธร เกิดทิพย์ สาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเริ่มต้นในกระบวนการพัฒนา ปัจจุบันสถาบันฯ สามารถดำเนินการออกแบบ ผลิต และขาย รวมทั้งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนฯ ให้ดำเนินการผลิตและขายสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

ผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ชุดที่ 1 เป็นลีมาบาติกลวดลายใหม่ จัดส่งตามออเดอร์ ออกแบบประยุกต์ลวดลายจากผ้าจวนตานีหรือผ้าลีมา ผ้าโบราณชายแดนใต้ สู่การพิมพ์มือลงบนผืนผ้า มีการศึกษาข้อมูล ลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ผลิตผลงานชุดแรกโดยครูช่างธนินทร รักษาวงศ์ แห่งดาหลาบาติก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ชุดที่ 2 ลวดลายตาข่ายก้านแย่ง "แรงบันดาลใจจากลวดลายประยุกต์ผ้าทอจวนตานี หรือผ้าลีมา" ผลงานการออกแบบและพัฒนาลวดลายโดย ดร.กำธร เกิดทิพย์ และครูช่างปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผสมผสานลวดลายประยุกต์เชิงผ้า (ร่องจวน/จูวา) จากลีมาบาติกสถาบันฯ ชุด 1 พัฒนาโดยนายวิษณุ เลิศบุรุษ นักวิชาการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และครูช่างธนินทร รักษาวงศ์ ซึ่งใช้แม่พิมพ์ลีมาบาติกชุด 2 แม่พิมพ์ครู แม่พิมพ์จากงานวิจัย Pattaniheritagecity แม่พิมพ์ลิขสิทธิ์ทางปัญญา แม่พิมพ์ที่ควรค่าพัฒนาคน มีการผลิตผ้าด้วยความพิถีพิถัน ลายคมชัด ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต มีถ่ายทอดความรู้โดยสถาบันฯ เป็นการสร้างงาน ส่งเสริมอาชีพให้นักศึกษา บัณฑิต ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผ้าลีมาบาติกสถาบันฯ ชุดที่ 3 ผลงานการออกแบบพัฒนาแม่พิมพ์ ลวดลายประยุกต์ โดยนายวิษณุ
เลิศบุรุษ ลวดลายลีมาบาติกชุด 3 พัฒนาจากลวดลายลีมาก้านแย่ง ที่มองต่างมิติ แทรกแซมด้วยดอกพิกุลที่สดใส นิยมตัดเสื้อทีม เลือกสีตามหน่วยงาน ตัดเสื้อผู้บริหาร ควบคุมการให้สีวางลาย สงวนสิทธิ์เฉพาะหน่วยงานที่สั่ง
นอกจากนี้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ภายใต้โครงการ Pattani Heritage City ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ และพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองปัตตานี ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านตรัง (กองซัง) ผ้าทอจวนตานีบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรายาบาติก Raya Batik ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และกลุ่ม Start up นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนโครงการโดยสถาบันฯ ซึ่งทีมผู้บริหารพร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ได้ลงพื้นที่พบปะเครือข่าย ณ กลุ่มรายา
บาติก บ้านเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ภายใต้กิจกรรมบาติกและลวดลายประยุกต์จากผ้าลีมา
โครงการ Pattani Heritage City (ภายใต้โครงการ Creative Economy) ปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่น "ผ้าบาติก" รวมถึง
การพัฒนารูปแบบวิธีการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อาทิ การออกแบบลวดลายประยุกต์ โดย
ดร.กำธร เกิดทิพย์ , การย้อมสีธรรมชาติและคราม โดย อาจารย์ศุภชัย สร้อยจิต รวมถึงการพัฒนาต่อยอดบรรจุภัณฑ์
รางวัลอันน่าภาคภูมิใจของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา 2 รางวัล คือ รางวัลผลงานดีเด่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2562 และรางวัลชมเชยแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ขอขอบคุณโครงการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าท้องถิ่นชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ Pattani Heritage City มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เรียบเรียงโดย อ้อมใจ วงษ์มณฑา