ช่างตีเหล็กแห่งเมืองโบราณยะรัง

การทำมาหากิน อาชีพปัตตานี
ยะรัง
ยะรัง

นายอับดุลรอซะ สามะแซ หรือแบซะ อายุ 58 ปี เจ้าของบ้านตีเหล็ก หมู่ที่ 5 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง เล่าว่า พ่อของตนเป็นช่างตีเหล็ก ตนเองสืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว เริ่มประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2532 ได้ไปเรียนตีเหล็กกับญาติมาก่อนเป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้ญาติคนที่สอนเสียชีวิตแล้วแต่ยังมีลูกชายประกอบอาชีพช่างตีเหล็กอยู่ แต่การตีเหล็กของตนเองเป็นการทำแบบดั้งเดิม ส่วนลูกชายของญาติเป็นการทำแบบใหม่ ปัจจุบันในอำเภอยะรังมี 4 บ้านที่ตีเหล็ก คือ แบซะ (ผู้เล่าเรื่อง) มะดิง (ลูกชายผู้สอน) เจ๊ะยอ และรอแม ทั้ง 4 บ้านนี้เป็นเครือญาติกัน
การประกอบอาชีพช่างตีเหล็กนั้นต้องมีใบอนุญาตมีการจดทะเบียน ซึ่งใบจดทะเบียนเดิมของตนเองนั้นสูญหาย จึงต้องจดทะเบียนใหม่เมื่อปี พ.ศ.2561

เหล็กที่นำมาตีเป็นเศษเหล็กที่ซื้อมาหรือเป็นเหล็กที่ลูกค้านำมาให้ตี เหล็กมี 3 ชนิด คือ 1) เหล็กกล้า เป็นเหล็กที่แพงที่สุด ไม่ขึ้นสนิม นำมาจากเครื่องยนต์หรือก้านวาว การตีต้องใช้อุณหภูมิสูง เผานาน ส่วนใหญ่ใช้ทำมีดพก 2) เหล็กกล้าธรรมดา เหล็กนี้ขึ้นสนิม ใช้ทำเครื่องใช้ เช่น มีด พร้า ฯลฯ 3) เหล็กใบเลื่อย ใช้ทำมีดตัดหญ้า มีความคม
วิธีการตีเหล็กนั้นต้องเริ่มจากการทำแบบในกระดาษก่อน มีทั้งแบบที่ลูกค้ากำหนดเอง และแบบของช่าง เมื่อเลือกแบบแล้วกำหนดขนาดให้เหมาะกับการใช้งาน เผาเศษเหล็กให้ร้อนและตีให้แบน การตีเหล็กนั้นมีการสลับกันตี หรือที่เรียกว่า แลบา มีผู้ตีนำและผู้ตีตาม ซึ่งแบซะเป็นผู้ตีนำและลูกชายเป็นผู้ตีตาม ต่อมาเป็นการดัดขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ และการเจียเพื่อให้คม ความคมขึ้นอยู่กับการเจีย ถ้าเจียบางเกินไปจะคมไม่นาน เมื่อเสร็จแล้วจะชุบน้ำมันเครื่องเพื่อป้องกันการเกิดสนิม การทำมีด 1 อันใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ถ้าทำมีดกรีดยางสามารถทำได้ 50 อันต่อวัน หรือถ้าเครื่องใช้อื่น ๆ ที่ทำไม่ยากก็สามารถทำได้ 30 อันต่อวัน โดยปกติจะทำเฉพาะช่วงเช้า เพราะอากาศไม่ร้อน แต่ถ้ามีงานด่วนก็จะตีทั้งวัน นอกจากลูกค้าในพื้นที่แล้ว จะมีลูกค้าจากสะบ้าย้อย ลำไพล เทพา ยี่งอ นราธิวาส และอื่น ๆ

การตีมีดพร้าที่มีรูปทรงแตกต่างกันไปนั้น มีชื่อเรียกตามลักษณะและพื้นที่ เช่น พร้าบเก็ง พร้าเบตง พร้ายาเงาะ พร้าสันติ พร้ากำปง พร้าจานง พร้ากล้วย ฯลฯ
การตีเหล็กแต่ละบ้านจะทำสัญลักษณ์ของตนเอง สำหรับเหล็กที่ตีจากบ้านแบซะจะมีสัญลักษณ์เป็นรูปลูกศร แบซะมีความเชื่อในการตีเหล็กว่า ถ้าลูกค้าสั่งทำลูกขวานเพื่อจะเอาไปขว้างหัวคน เมื่อทำเสร็จและนำไปใช้แล้วก็จะมีการนำไปขว้างหัวคนจริง ๆ จึงแนะนำไม่ให้พูดในทางที่ไม่ดีในการสั่งทำ
รายได้จากการตีเหล็กนั้นต่ำสุดประมาณ 2,000 บาทต่อวัน สูงสุด 5,000 บาทต่อวัน (ทำ 3 คน มีแบซะและลูกชาย 2 คน) ค่าแรงทำหรือซ่อมมีดกรีดยาง อันละ 100 บาท ราคาขายมีดกรีดยางอันละ 150 บาท มีดรูปแบบต่าง ๆ ราคาอันละ 150-200 บาท ค่าแรงทำดาบอันละ 700 บาท ค่าแรงทำกริชอันละ 1,500 บาท การทำกริชนั้นยาก ทำ 1 เล่มใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และได้เลิกทำกริชมาประมาณ 1 ปีแล้ว

แบซะตีเหล็กกับบุตรชาย

การตีเหล็กนั้นต้องเผาเหล็กให้ร้อนและต้องตีทันที หากตีสองคนจะช่วยให้เหล็กเป็นรูปร่างที่ต้องการได้เร็วขึ้น แบซะเป็นผู้ตีนำและบุตรชายตีตาม

เรียบเรียงโดย รวีวรรณ ขำพล