ชุมชนปะเสยะวอส่วนใหญ่ผู้หญิงมีอาชีพทำผลิตภัณฑ์จากกระจูด ซึ่งสืบทอดส่งต่อกันในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น
ซามียะ นิแอ เล่าว่า เดิมคนในชุมชนปะเสยะวอส่วนใหญ่ผู้หญิงมีอาชีพทำผลิตภัณฑ์จากกระจูด ซึ่งสืบทอดส่งต่อกันในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ตนเองเริ่มทำเสื่อกระจูดเมื่ออายุ 15 ปี กลับจากโรงเรียนจะมาช่วยแม่ทำกระจูด ที่ตนเองทำเป็นเพราะเรียนรู้จากการสังเกตเวลาแม่ทำ อีกทั้งการทำกระจูดในพื้นที่ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง กระจูด 1 ผืนจะมีลวดลายที่หลากหลาย เช่น ลายเท้าช้าง ลายดอกไม้ เป็นต้น ที่ผ่านมาคนในชุมชนส่วนใหญ่จะทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดใช้เองในครัวเรือน และจำหน่ายในหมู่บ้านเท่านั้น นานๆ ครั้งจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาสั่งทำบ้าง แต่ไม่สม่ำเสมอทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ต่อมาชุมชนเริ่มมีการพัฒนา มีการตัดถนนหนทางเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การขึ้นของกระจูดตามธรรมชาติกระจูดจึงมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการทำผลิตภัณฑ์ เพราะทุกคนในชุมชนทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดเหมือนกันจึงทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ ประกอบกับในหลายจังหวัดทางภาคใต้มีการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดเช่นเดียวกัน สตรีในชุมชนจึงหันมาทำอาชีพอื่น อาชีพการทำกระจูดในพื้นที่นี้จึงหายไปมากกว่า 20 ปีแล้ว สตรีในชุมชนแห่งนี้จึงหันมาทำปลากะตักและบูดูจำหน่ายเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน