เรือนไทยมุสลิมริมแม่น้ำปัตตานี อายุกว่าร้อยปีในจังหวัดปัตตานี ที่มีศิลปะการตกแต่งตัวเรือนด้วยลายไม้แกะสลักที่สวยงาม
บ้านเรือนไทยมุสลิมหลังนี้ เป็นลักษณะบ้านสองชั้น ด้านล่างเป็นพื้นโล่ง มองเห็นเสาเรือนแบบปูน ด้านบนเป็นเรือนพื้นไม้ ประตู หน้าต่าง ช่องลม โครงสร้างต่างๆ เป็นไม้ทั้งหมด สร้างตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2466 มีอายุกว่าร้อยปี เป็นที่อยู่อาศัยตกทอดกันมาในตระกูลอาลีอิสเฮาะ ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณพ่อ และทายาทปัจจุบันที่อาศัยอยู่คือลูกสาวของคุณสนั่น อาลีอิสเฮาะ (อดีตเทศมนตรีเมืองปัตตานี)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากบ้านมีทำเลอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี จึงทหารญี่ปุ่นมายึดเป็นที่พัก เพราะสมาชิกในบ้านได้อพยพไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เมื่อสงครามสงบ เจ้าของบ้านจึงได้ไปขอให้ท่านขุน (จำชื่อไม่ได้) ไปเจรจาขอบ้านคืนมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดิม ดังในบ้านจะมีร่องรอยปรากฏของรอยกระสุนปืน ความเสื่อมโทรมของบ้าน เจ้าของบ้านจึงได้ทำการปรับปรุงบ้านด้วยการทาสีใหม่ และต่อมาเสาบ้านมีความเอนเอียง จึงได้ทำการซ่อมแซมมาอีกครั้งหนึ่งด้วยการเสริมคานปูน เสาปูนเข้าไปในบางจุด เพื่อให้บ้านมีความแข็งแรงมากขึ้น
แม้จะมีการปรับปรุงซ่อมแซมในบางจุด แต่ก็ยังคงเป็นโครงสร้างไม้เดิม เสาไม้เดิม มีลายแกะสลักลวดลายประดับในแต่ละจุด ได้แก่
– หน้าจั่วและยอดจั่วประดับหลังคา ซึ่งมองเห็นได้จากด้านหน้า ใช้วิธีการฉลุไม้เป็นลวดลายอย่างสวยงาม
– เชิงชายรอบบ้าน ใช้วิธีการฉลุไม้เป็นลายประดิษฐ์เครือเถาแบบโปร่ง
– ช่องลมใต้หลังคา แบ่งเป็นส่วนหน้าของตัวบ้าน จะเป็นการแกะสลักไม้เป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาต่อกันอย่างสวยงาม ส่วนด้านหลังของตัวบ้าน จะใช้แบบไม้ตีแนวนอน และแบบไม้ตีแนวทแยงเฉียงไปมาแบบเรขาคณิต สามารถใช้เก็บของชิ้นเล็กๆ และระบายลมได้เป็นอย่างดี
– ช่องลมเหนือบานประตู ใช้ไม้แกะสลักเป็นลวดลายพรรณไม้ใบและไม้ดอกผสมกัน ประดับช่องลมเหนือบานประตู
โดยโครงสร้างและการตกแต่งของบ้านหลังนี้ จะเน้นการตกแต่งด้วยลายสลักที่สวยงาม และสามารถระบายอากาศได้ดี