นางสาวสมพิศม์ วรคามิน คือทายาท รุ่นที่ 2 เล่าประวัติโรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ว่า คุณพ่อกับคุณแม่เป็นผู้ก่อนตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา ก่อน พ.ศ. ๒๔๘๐ เดิมโรงเรียนนี้ชื่อว่า “โรงเรียนวรคามินอนุบาล” เพราะแรกเริ่มมีแต่เด็กเล็กๆ มาเข้าเรียน ซึ่งในขณะนั้นคุณพ่อรับราชการเป็น รองอำมาตย์ตรีเชื้อ และคุณแม่นางสอางค์ วรคามิน เป็นแม่บ้าน
นางสาวสมพิศม์ เล่าว่า ตนเองมีพี่น้องร่วมบิดา มารดา 8 คน ดังนี้ 1.นางสาวสมจิตต์ วรคามิน 2.นางสาวสมพิศม์ วรคามิน 3.นางสาวสมนิตย์ วรคามิน 4.นางสมพัทล์ เพชรคุ้ม 5.นางสาวสมปัตต์ วรคามิน 6.นางสาวสมศรี วรคามิน 7.นางสาวสมรัตน์ วรคามิน 8.นายอัสนี วรคามิน ปัจจุบัน นางสาวสมพิศม์ เหลือพี่น้องร่วมบิดา มารดา 3 คน ได้แก่ นางสาวสมนิย์ และนางสมพัทล์ เดิมครอบครัวของคุณพ่อเดิมอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร คุณพ่อได้ถูกย้ายมาประจำที่จังหวัดปัตตานี คุณแม่สอางค์เลยตามมาด้วย เมื่อคุณพ่อมารับราชการสำงานป่าไม้จังหวัด คุณแม่สอางค์ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกอยู่บ้าน เลยมีความคิดจะรับสอนเด็กเล็กๆจากบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งไม่เข้าเกณฑ์การศึกษา สมัยนั้นนางสาวสมพิศม์ เล่าว่า “มีชาวบ้านหรือคนที่สนใจนำบุตรหลานมาฝากเลี้ยง มีจำนวนไม่เยอะมาก สมัยนั้นเปิดบ้านพัก ฝาบ้านเป็นฝาไม้สานขัด” หลังจากนั้นได้ไม่นาน คุณแม่สอางค์ได้เสียชีวิต ด้วยภาวะอาการแท้งบุตร ในเวลาต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นบุกเมืองปัตตานี ยึดสถานที่ราชการ บ้านพัก โรงเรียนต่างๆ คุณพ่อเป็นยุวชนทหารและคุณพ่อได้เสียชีวิตในบ้านพัก ด้วยหอกปลายปืนของทหารญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้น พี่สมจิตต์ อายุได้ 17 ปี ส่วนนางสาวสมพิศม์ อายุ 15 ปี ได้พาน้องๆอีก 6 คน เดินทางหลบหนีทหารญี่ปุ่นไปอยู่ที่มายอ โดยได้รับการช่วยเหลือจาก คุณมงคล เพ็ญแข ซึ่งเป็นเจ้านายของคุณพ่อในตอนนั้น ระยะเวลาที่ใช้ชีวิตที่มายอ 2 เดือน เมื่อเหตุการณ์สงบ นางสมพิศม์และพี่สมจิตต์ จึงพาน้องๆทั้ง 6 กลับมาบ้านในตัวเมือง นางสาวสมพิศม์ เล่าว่า ณ ตอนนั้น พี่สมจิตต์ เป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับน้องๆ พี่สมจิตต์เข้มแข็งมาก ถึงแม้จะอายุแค่ 17 ปี พี่สมจิตต์กลับมาฝื้นฟูโรงเรียนของคุณพ่อและคุณแม่ให้กลับมาเหมือนเดิม สมัยนั้นได้สร้างห้องเรียน ด้วยการยกเสามีหลังคา จากฝาไม้ไผ่ขัดแตะ เรียนบนพื้นดิน โต๊ะเรียนเป็นลังไม้เก่าๆ ภายหลังดัดแปลงเป็นอาคารเรียนถาวร ซึ่งสมัยนั้น นางสาวสมพิศม์ เล่าว่า “มีเด็กนักเรียนมาเรียนชั้นบริบาล เกือบ 50 คน ซึ่งค่าเทอมในยุคนั้น บางคนก็มีให้บ้าง ไม่มีบ้าง คุณแม่เป็นคนใจบุญ ส่วนคนที่มีฐานะหน่อย จะช่วยค่าเลี้ยงเด็กคนละ 1 บาท ” ส่วนคนที่พ่อแม่ไม่มีเงิน พี่สมจิตต์มีความสามารถด้านทำขนม จึงทำขนมขายเพื่อหาทุนมาดูแลเด็กด้วยตัวเอง ส่วนครูผู้สอนในตอนนั้นคือ ครูสมจิตต์ วรคามิน , ครูสมพิศม์ วรคามิน, ครูวีณา บัวแย้ม, ครูสงวนตรี มนตรีกุล ณ อยุธยา (ซึ่งคุณครูในสมัยนั้นคือเพื่อนของพี่สมจิตต์) การแต่งการของเด็กในยุคนั้น แต่งตัวตามสบาย ชุดบ้าน อายุไม่ได้จำกัด วิชาที่เปิดสอนจะไม่เน้นวิชาการ แต่จะเน้นคุณธรรม จริยธรรม เป็นส่วนใหญ่
หลังจากนั้นพี่สมจิตต์ก็ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียง เพื่อเปิดเป็นโรงเรียนแผนกประถมศึกษาที่ 1-4
โดยรวบรวมที่ดินจากโฉนดหลายๆเจ้า มารวมเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และที่ดินส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นที่ดินของตระกูล อาลีอิสเฮาะ ซึ่งเป็นที่ดินของคุณสนั่น อาลีอิสเฮาะ และบรรดาลูกๆของคุณสนั่นทุกคนก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ทุกคน นางสาวสมพิศม์ยังเล่าอีกว่า ตระกูลเก่าแก่อีกหนึ่งตระกูลที่เข้าศึกษาที่โรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ คือ โต๊ะครูฮัจยีสุหลง ฮับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นโต๊ะครูดังในสมัยนั้น กลับส่งลูกๆของท่านทุกคนเข้าเรียนที่โรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ นางสาวสมพิศม์ เล่าอีกว่า ด้วยความขยัน ตั้งใจทำงานของพี่สมจิตต์ ผู้ปกครองเชื่อมั่นในการเรียน การสอน จึงทำให้มีนักเรียนเข้าศึกษาในสมัยนั้น เกือบ 1,000 คน ปัจจุบันโรงเรียนวรคามินอนุสรณ์มีเด็กนักเรียน 700-800 คน มีคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา รวม 60 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นบริบาล ชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3