สุสานโต๊ะปาแย

โบราณคดีและประวัติศาสตร์
แหลมโพธิ์
ยะหริ่ง

เป็นที่ฝังศพของพ่อค้ามีชื่อว่า 2 คนคือ ชิคคามุสหรือแปะ และผู้ช่วยชื่ออับดุลมุมินที่ทรยศต่อประเทศชาติ

เดิมหมู่บ้านดาโต๊ะเป็นท่าเรือค้าขายสินค้าของพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติ เจ้าเมืองจึงได้ออกข้อบังคับห้ามขายทองเหลืองให้กับพ่อค้าชาวต่างประเทศ ซึ่งถ้าบ้านไหนมีทองเหลืองให้นำไปขายแก่เจ้าเมืองเพื่อเอาไปหลอมเป็นปืนใหญ่ แต่ก็มีพ่อค้า 2 คนคือ ชิคคามุสหรือแปะ และผู้ช่วยชื่ออับดุลมุมิน ซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ เมื่อเรื่องถึงหูเจ้าเมือง เจ้าเมืองโกธรมากจึงออกคำสั่งให้ไปจับพ่อค้าทั้ง 2 คนนั้นไปประหารชีวิต และไม่อนุญาตให้ฝังในกูโบร์นี้ เพราะทั้ง 2 คนทรยศต่อประเทศชาติ จึงมีคำสั่งให้นำศพไปทิ้งคลองปาเระ หลายวันผ่านไปศพก็ยังอยู่กับที่ไม่จมและไม่ลอยไปไหน ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรู้สึกสงสารจึงเข้าเฝ้าเจ้าเมือง และขอนำศพไปฝังในกูโบร์ เจ้าเมืองก็เมตตาอนุญาตให้ฝังได้แต่ห้ามฝังในบริเวณชุมชน แต่ให้ไปฝังที่ท่าเรือสะบารัง นั่นก็คือหมู่บ้านดาโต๊ะในปัจจุบัน ชาวบ้านช่วยกันนำศพไปฝังในบริเวณท่าเรือ จากนั้นก็ช่วยกันวัดความยาวของศพเพื่อจะขุดหลุมฝังศพแต่เมื่อขุดหลุมฝังศพเสร็จแล้วจะนำศพมาฝังกลายเป็นว่าศพมีขนาดยาวขึ้นกว่าเดิม ชาวบ้านจึงช่วยกันขุดหลุมอีกครั้ง เมื่อจะนำศพมาฝัง ศพก็ยาวขึ้นกว่าเดิมอีกชาวบ้านทำแบบนี้ครบ 3 ครั้งก็เกิดความเหนื่อยล้า จึงช่วยกันขอพรต่อพระเจ้าว่า "ถ้าสองคนนี้วิเศษจริงก็หยุดความยาวของศพนี้เถิด" หลังจากที่ขอพรเสร็จชาวบ้านก็นำศพไปฝังอีกครั้งปรากฏว่าศพมีขนาดความยาวพอดีกับหลุมที่ขุดไว้ เป็นที่มาของการเรียกชื่อสุสานนี้ว่า สุสานโต๊ะปาแย แปลว่า ผู้เฒ่าที่ยาวหรือท่านยาว ติดกับกุโบร์โต๊ะปาแย คือ "สุสานยะหริ่ง" หรือ "สุสานตนกูปะสา" หรือ "พระยาวิชิตภักดีศรีรัตนาเขตประเทศราช" เจ้าเมืองปัตตานีคนที่ 9 ปกครองในปี พ.ศ. 2388-2399 ภายในเป็นหลุมศพของเจ้าเมือง และสมาชิกครอบครัว มีแท่งหินแกะสลักลวดลายสวยงาม 9 แท่น วางอยู่บนหลุมศพโดยหลุมศพเจ้าเมืองอยู่ตรงกลาง

เรียบเรียงโดย อัญญ์ณิชตา รุ่งวิชานิวัฒน์